ห้องสมุดโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย

4

3

 

            ห้องสมุดโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยมีมาตั้งแต่เริ่มตั้งโรงเรียน ในระยะแรกไม่ได้เป็นห้องสมุดที่เป็นสัดส่วนเอกเทศ เป็นเพียงแต่ตู้เก็บรวบรวมหนังสือในห้องครูใหญ่หรือตั้งอยู่ในห้องเรียนห้องใดห้องหนึ่งเท่านั้น มีหนังสือต่างๆที่ได้จากการซื้อหาและการบริจาคจากเจ้านาย ข้าราชการและประชาชนโดยทั่วไป ประวัติความเป็นมาของห้องสมุดโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยสามารถแบ่งออกเป็นระยะต่างๆได้ดังนี้

  1.  ห้องสมุดโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยในระยะแรก (พ.ศ.2448-2458) ในระยะนี้ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย มีที่ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกวโรรสข้างวัดดวงดีทางด้านทิศใต้(หรือสี่แยกกลางเวียงปัจจุบัน) ห้องสมุดโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยในระยะนี้ไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารว่าได้ใช้ส่วนใดห้องใดของอาคารเรียน จัดเป็นห้องสมุด แต่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีห้องสมุดแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2451
  2.  ห้องสมุดโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยในระยะที่ 2 (พ.ศ.2548-2516) โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยได้ย้ายสถานที่ตั้งมาอยู่เลขที่ 238 ถนนพระปกเกล้า ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง หรือตั้งในปัจจุบันนี้ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2458 โดยได้เริ่มสร้างตึกยุพราชเป็นอาคารเรียนหลังแรกตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2455 ห้องสมุดของโรงเรียนในระยะนี้จึงอาศัยอยู่บนตึกยุพราชก่อน จนถึงปี พ.ศ.2467 จึงมีการสร้างห้องสมุดเป็นสัดส่วนเฉพาะโดยปรากฎหลักฐานว่า มีห้องสมุดเป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างใช้เป็นสโมสรของลูกเสือชั้นบนมี 4 ห้อง ห้องกลาง 2 ห้องใช้เป็นห้องสมุด ห้องริม 2 ห้องจัดเป็นห้องเรียนและได้ทำบุญฉลองหอสมุดที่ซ่อมแซมขึ้นใหม่ ในวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2467 และโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยได้ใช้ห้องสมุดนั้นเรื่อยมา ต่อมาในปีพ.ศ.2469 ได้มีพระราชพิธีสมโภช “พระเศวตคชเดชดิลก” ช้างสำคัญของเมืองเชียงใหม่และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7  เจ้านายฝ่ายเหนือ ข้าราชการมณฑลพายัพและประชาชนชาวเมืองนครเชียงใหม่ได้ร่วมกันสร้างโรงช้างต้นขึ้น หลังจากประกอบพิธีเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2469 แล้ว ไม่ปรากฏว่าได้ใช้อาคารนี้เกื่ยวข้องกับช้างสำคัญอีกเลย จึงได้มีการดัดแปลงอาคารโรงช้างต้น เป็นห้องสมุด และโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยได้อาศัยโรงช้างต้นเป็นห้องสมุดของโรงเรียนเรื่อยมา จนกระทั่งได้ย้ายมาที่ตึกยุพราชอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ.2501 ห้องสมุดย้ายไปอยู่ที่อาคารเรือนวิเชียร และในปี พ.ศ.2504 ได้ย้ายกลับมาใช้ด้านล่างของตึกยุพราชเป็นที่ตั้งของห้องสมุด เรื่องราวของห้องสมุดของโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยในระยะปี พ.ศ.2501 – 2516 นั้น มีปรากฏในสมุดหมายเหตุรายวันของโรงเรียนหลายเรื่องที่สำคัญ ดังเช่น1. มีการตั้งชุมนุมห้องสมุดโดยมีนักเรียนสมัครเข้าเป็นสมาชิกรวมกลุ่มดำเนินการมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษา
    2.มีการส่งครูไปอบรมวิชาบรรณารักษ์เพิ่มเติม
    3. ห้องสมุดถือเป็นจุดสำคัญที่แขกผู้มาเยือนโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยต้องไปเยี่ยมชมเสมอ จัดเป็นแหล่งศึกษาดูงาน
  3.  ห้องสมุดโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยในระยะ ที่ 3 (พ.ศ.2516 – 2534)  ในปี พ.ศ.2516 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ได้รับการคัดเลือกเข้าเป็ฯโรงเรียนในโครงการ คมส.และได้รับเงินงบประมาณก่อสร้างอาคารใหม่ชื่อ      อาคารรัตนมณี  จึงได้มีการกำหนดให้ชั้นล่างของอาคารขนาด 5 ห้องเรียนเป็นที่ทำการของห้องสมุดโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยและเพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวของห้องสมุดทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ รวมถึงการให้บริการแก่บุคลากรที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยจึงได้กำหนดให้อาคารรัตนมณีชั้นที่ 2 เป็นห้องบริการหนังสืออ้างอิงและวารสารเย็บเล่ม ใช้ห้องเรียนเป็นที่ทำงานอีก 2 ห้องเรียน  ในระยะที่ 3 นี้ห้องสมุดโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยได้รับการยกย่องและมีการพัฒนาที่สำคัญ

4.ห้องสมุดโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยในปัจจุบัน (พ.ศ.2534 – ปัจจุบัน) โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารนวรัตน์ในปีพ.ศ.2530  อาคารนวรัตน์จัดเป็นอาคารอเนกประสงค์ ชั้นล่างเป็นโรงอาหาร ชั้นที่สองเป็นห้องสมุดขนาด 10 ห้องเรียน และชั้นที่สามเป็นหอประชุมขนาดใหญ่ ห้องสมุดได้พัฒนาอย่างมาก มีการพัฒนาทั้งทางด้านอาคารสถานที่ สิ่งแวดล้อม จำนวนหนังสือ  การให้บริการ การปรับปรุงงานเทคนิค การส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ภายในห้องสมุด มีการติดเครื่องปรับอากาศทั้งหลัง จัดแบ่งห้องออกเป็นสัดส่วนตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานและในปีการศึกษา 2536 ห้องสมุดได้รับรางวัลห้องสมุดโรงเรียนดีเด่นของกรมสามัญศึกษา ได้รับเกียรติบัตรของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย

อ้างอิงจาก ห้องสมุดโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *