Menu

โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา

กุมภาพันธ์ 15, 2015 - พิพิธภัณฑ์
โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา

ประวัติความเป็นมาAbout Us

มูลนิธิ

โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาเกิดจากความร่วมมือของพ่อครู แม่ครูภูมิปัญญา กลุ่มศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันวิชาการ และองค์กรชุมชน ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัด “งานสืบสานล้านนา” ร่วมกันปีละครั้งๆ ละ ๔ วันในช่วงต้นเดือนเมษายน นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๙–๒๕๔๓ เป็นระยะเวลา ๕ ปีติดต่อกันโดยมีเป้าหมายร่วมสำคัญคือ การเผยแพร่องค์ความรู้และภูมิปัญญาในด้านต่างๆ ของล้านนาที่ได้มีการปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน และเป็นการนำเสนอกระบวนการสืบทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาล้านนาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญาในเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อาหารพื้นบ้าน การเกษตรพื้นบ้าน การดูแลรักษาสุขภาพ งานศิลปวัฒนธรรมในด้านต่าง ๆ อาทิ ภาษาล้านนา การทอผ้า การแต่งกาย ดนตรีพื้นเมือง ฟ้อนพื้นเมือง งานหัตถกรรมพื้นบ้าน วาดรูปล้านนา สมุนไพร ฯลฯ

ในปี ๒๕๔๓ หลังจากการจัดงานสืบสานล้านนาครั้งที่ ๓ ได้มีคำถามจากเด็กที่มาร่วมงานว่า “ถ้าสนใจจะเรียนรู้ภูมิปัญญาล้านนาจะไปเรียนได้ที่ไหน” คณะกรรมการจัดงานจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับพ่อครูแม่ครูภูมิปัญญา ทุกท่านมีความพร้อมที่จะสืบสานภูมิปัญญาล้านนา และไปขอคำแนะนำจากหลวงพ่อพระพุทธพจนวราภรณ์ วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ คณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการสืบสานล้านนา ท่านให้แง่คิดว่าการสืบสานภูมิปัญญานั้นไม่ใช่ทำแค่ปีละครั้งๆ ละ ๔ วันแต่ต้องทำตลอดเวลา ต้องทำทุกลมหายใจ ท่านเปรียบการสืบสานภูมิปัญญาเสมือนสายน้ำไหล หากน้ำเก่าไหลไปน้ำใหม่ไม่ไหลมาก็เป็นน้ำห่างสายน้ำแห้ง หากน้ำเก่าไม่ไหลไปน้ำใหม่ไม่ไหลมาก็เป็นน้ำเน่า แม่น้ำจะยังคงเป็นแม่น้ำ เมื่อน้ำเก่าไหลไปน้ำใหม่ไหลมาทดแทนสืบเนื่องกันไป จึงส่งผลให้เกิดการจัดตั้งโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาขึ้น

กว่าสิบปีแล้ว ที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาได้ดำเนินการสืบทอดองค์ความรู้และ ภูมิปัญญาที่มีอยู่สู่เด็ก เยาวชนและคนที่สนใจ จำนวนมาก สนับสนุนการจัดกิจกรรมสืบทอดองค์ความรู้ ภูมิปัญญาล้านนาของกลุ่มเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา สนับสนุนการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาของพ่อครูแม่ครู จัดตั้งกองทุนสวัสดิการพ่อครูแม่ครู นอกจากนั้นได้จัดการเรียนรู้ภูมิปัญญาล้านนาให้กับเด็กนักเรียนจากโรงเรียน และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ตลอดจนได้พัฒนาหลักสูตรเรียนรู้รากเหง้าเท่าทันอาเซี่ยน ปัจจุบันได้พัฒนาหลักสูตร ๓ ระดับ หลักสูตรเรียนภูมิปัญญาขั้นพื้นฐาน หลักสูตรเรียนภูมิปัญญาเพื่อพัฒนาอาชีพ หลักสูตรครูภูมิปัญญารุ่นใหม่

ปัจจุบันนี้โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ได้ดำเนินงานกิจกรรมสืบสานภูมิปัญญามาจนเป็นที่ยอมรับขององค์กร หน่วยงานต่างๆ มากขึ้น ในขณะที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาเองก็ยังมีข้อจำกัดในด้านบุคลากรและ ทุนปัจจัยเพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ ทางคณะกรรมการบริหารโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาจึงได้ดำเนินการจดทะเบียน จัดตั้ง “มูลนิธิสืบสานล้านนา” ขึ้น เพื่อสร้างฐานที่มั่นคงในการดำเนินการสืบสานภูมิปัญญาในระยะยาวและได้รับ อนุญาตจัดตั้งเรียบร้อยแล้วในวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๖

วัตถุประสงค์ของมูลนิธิสืบสานล้านนา

๑.เพื่อรวบรวมผู้รู้ พ่อครู แม่ครู ช่างพื้นบ้านในแขนงต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชนล้านนา

๒.ศึกษารวบรวมข้อมูล องค์ความรู้พื้นบ้านออกมาเพื่อให้คนรุ่นใหม่ศึกษา และสืบทอดได้

๓.จัดการสืบสานภูมิปัญญาในรูปแบบการศึกษา นอกระบบและตามอัธยาศัย โดยมีหลักสูตรอบรมระยะสั้นและหลักสูตร ตามอัธยาศัยเพื่อเชื่อมโยงการจัดการเรียนรู้ภูมิปัญญากับสถาบันการศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่างๆ ในการจัดการเรียนรู้เรื่องภูมิปัญญา

๔.เผยแพร่ให้ความรู้แก่สาธารณชนให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น

๕.ประสานเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ในการดำเนินกิจกรรมเรียนรู้ภูมิปัญญา

๖.จัดตั้งกองทุนสวัสดิการให้กับพ่อครูแม่ครูโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา

คณะกรรมการชุดก่อตั้งมูลนิธิสืบสานล้านนา

นายชัชวาลย์  ทองดีเลิศ ประธานมูลนิธิ

มรว. อัจฉรีย์ชัย  รุจจวิชัย รองประธานมูลนิธิ

นางนุสรา  เตียงเกตุ   กรรมการ

นายประสงค์  แสงงาม    กรรมการ

นางสุพันธ์  ฉิมดี เหรัญญิก

มูลนิธิสืบสานล้านนา

๓๕ ถนนรัตนโกสินทร์ ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๐๐๐

โทรศัพท์ ๐๕๓-๒๔๔๒๓๒

โทรสาร ๐๕๓-๓๐๖๖๑๒

Email: sslanna@hotmail.com , www.lannawisdoms.com

Facebook:โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา


ป้ายกำกับ:

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

คุณอาจจะใช้ป้ายกำกับและคุณสมบัติHTML: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>