
ประวัติความเป็นมา
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ เกิดขึ้นจากดำริของ ฯพณฯท่านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ) ที่ต้องการจัดตั้งหอสมุดแห่งชาติประจำภาคเหนือขึ้น เพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมฉลองปีรัชมังคลาภิเษก 2531
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดอาคารหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2532 และได้เปิดให้บริการเมื่อวันศุกร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ.2532 ปัจจุบันเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
วิสัยทัศน์
แหล่งรวบรวมมรดกภูมิปัญญาด้านทรัพยากรสารสนเทศที่สมบูรณ์และทันสมัย มุ่งให้บริการอย่างดีเด่น พร้อมเป็นผู้นำในด้านวิชาชีพห้องสมุด
ภารหน้าที่
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษกเชียงใหม่ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีหน้าที่ในการเก็บรวบรวม สงวนรักษา จัดระบบและให้บริการมรดกทางสติปัญญา วิทยาการและวัฒนธรรมของชาติที่ปรากฎในรูปของหนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ โสตทัศนวัสดุ และข่าวสารเรื่องทันสมัยต่างๆ รวมถึงหนังสือตัวเขียน เอกสารโบราณ คัมภีร์ใบลาน สมุดไทย โดยมีภารกิจหน้าที่ของหน่วยงานดังนี้
1) บริหารจัดการและดำเนินงานทรัพยากรสารสนเทศให้เป็นคลังสิ่งพิมพ์ใน ภูมิภาค โดยการจัดหา รวบรวม จัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศทุกประเภทและทุกสาขาวิชาให้ครบถ้วนสมบูรณ์
2) ศึกษาค้นคว้าและดำเนินงานวิชาการด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ตาม หลักมาตรฐานสากล เพื่อการเข้าถึงสารสนเทศได้โดยง่ายและใช้เป็นคู่มือในการให้คำปรึกษา แนะนำ ฝึกอบรมการปฏิบัติงานห้องสมุด แก่บุคคลและหน่วยงานภายนอก
3) ให้บริการสารสนเทศและส่งเสริมการอ่าน การศึกษาค้นคว้า วิจัย แก่ประชาชน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตและการศึกษาตามอัธยาศัย
4) ประสานงานกับสำนักหอสมุดแห่งชาติ และดำเนินงานสำรวจ รวบรวมเอกสารโบราณ และหนังสือหายาก เพื่อการสงวนรักษามรดกทรัพย์สินภูมิปัญญาของภูมิภาค
5) ประสานงานกับสำนักหอสมุดแห่งชาติ ในการเผยแพร่และกำหนดเลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ (ISBN) เลขมาตรฐานสากลประจำวารสาร (ISSN) และข้อมูลทางบรรณานุกรมของหนังสือ (CIP)