มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่

ประวัติความเป็นมา

     ห้องสมุดมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ เปิดบริการครั้งแรกเมื่อ วันที่ 18 มิถุนายน 2527 โดยใช้ห้องเรียน โรงเรียนพระปริยัติธรรมของวัดสวนดอก 1 ห้อง ขนาด 36 ตารางเมตร โดยในระยะแรกผู้ช่วยศาสตราจารย์รุ่งเรือง บุญโญรส อาจารย์จากภาควิชา ปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งวิทยาลัยสงฆ์ลานนา (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมหาจุฬา ลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่) ได้นำหนังสือส่วนตัวจำนวนหนึ่ง ( ประมาณ 1,000 เล่ม ) มาจัดตั้งห้องสมุด เพื่อให้บริการแก่พระนิสิตรุ่นแรก พร้อมทั้งชักชวนผู้มีจิตศรัทธาให้ร่วมบริจาควัสดุอุปกรณ์และ หนังสือให้ ห้องสมุด อีกจำนวนมาก

     ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2534 คณะผู้บริหาร มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ได้ดำเนินการจัดสร้างอาคารเรียนขนาด 3 ชั้น สร้างเสร็จเมื่อ เดือนกันยายน 2536 ห้องสมุดจึงได้ทำการย้ายเข้าอยู่ชั้นที่ 2 ของอาคารหลังใหม่เมื่อ วันที่ 4 ตุลาคม 2536 เป็นต้นมา ห้องสมุดมีขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว18 เมตร มีพื้นที่นั่งอ่านประมาณ 60 ที่นั่ง

     ปีการศึกษา 2539 คุณธีระศักดิ์ ไพโรจน์สถาพร ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารสถาบันวิทยบริการเพื่อใช้เป็นอาคารห้องสมุด จำนวนรวม 3 อาคารติดต่อกัน มีพื้นที่ใช้สอยรวม 1,943 ตารางเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้าง 15 ล้านบาท เมื่อเสร็จสมบูรณ์ แล้วห้องสมุด ได้ย้ายจาก อาคารเดิมมายังอาคารสถาบันวิทยบริการ เมื่อวันที่ 24-30 กันยายน 2540 และทำพิธีรับมอบอาคาร สถาบันวิทยบริการ ( อาคารธีระศักดิ์ – ไพโรจน์สถาพร) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2540 และเปิดอาคารห้องสมุดเพื่อให้บริการแก่ คณาจารย์ พระนิสิตและ บุคคลทั่วไปในภาคการศึกษาที่ 2/2540 จนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลเกี่ยวกับฝ่ายห้องสมุด

สุภาษิต

ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต
แปลว่า ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก

ปรัชญา

ศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจและสังคม

ปณิธาน

ศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง สำหรับพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์

วิสัยทัศน์ (Vision)

ผลิตคนดีและเก่ง อย่างมีสมรรถภาพ
จัดการศึกษาและวิจัยดีอย่างมีคุณภาพ
บริการวิชาการดีอย่างมีสุขภาพ
บริหารดีอย่างมีประสิทธิภาพ

ผลิตคนดีและเก่ง อย่างมีสมรรถภาพ
ผลิตบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรให้เป็นผู้มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส ใฝ่รู้ ใฝ่คิด เป็นผู้นำจิตใจและปัญญา มีโลกทัศน์กว้างไกล มีความสามารถในการแก้ปัญหา มีศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนาและพัฒนาสังคม

จัดการศึกษาและวิจัยดีอย่างมีคุณภาพ
จัดการศึกษาและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ โดยบูรณาการวิชาการด้านพระพุทธศาสนาเข้ากับศาสตร์สมัยใหม่ทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ ผ่านกระบวนการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ และเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนา มนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล และสันติสุข

บริการวิชาการดีอย่างมีสุขภาพ
มุ่งมั่นในการให้บริการวิชาการด้านพระพุทธศาสนาแก่คณะสงฆ์และสังคม รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ และความร่วมมืออันดีระหว่างพุทธศาสนิกชนในระดับชาติ และนานาชาติ เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ และวัฒนธรรม อันเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา

บริหารดีอย่างมีประสิทธิภาพ
มุ่งพัฒนาการบริหารจัดการตามหลักนิติธรรม จริยธรรม ความสำนึกรับผิดชอบ การมีส่วนร่วม ความโปร่งใสตรวจสอบได้ และความคุ้มค่า รวมทั้งสนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง

พันธกิจ (Mission)

๑. ผลิตบัณฑิต
ผลิตและพัฒนาบัณฑิตให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ๙ ประการ คือ มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส ใฝ่รู้ใฝ่คิด เป็นผู้นำด้านจิตใจและปัญญา มีความสามารถในการแก้ปัญหา มีศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา รู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม มีโลกทัศน์ กว้างไกล มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเอง ให้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม

๒. วิจัยและพัฒนา
การวิจัยและค้นคว้า เพื่อสร้างองค์ความรู้ควบคู่ไปกับกระบวนการเรียนการสอน เน้นการพัฒนาองค์ความรู้ในพระไตรปิฎก โดยวิธีสหวิทยาการแล้วนำองค์ความรู้ที่ค้นพบมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหา ศีลธรรม และจริยธรรมของสังคม รวมทั้งพัฒนา คุณภาพงานวิชาการด้านพระพุทธศาสนา

๓. ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคม
ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคม ตามปณิธานการจัดตั้งมหาวิทยาลัย ด้วยการปรับปรุงกิจกรรมต่างๆ ให้ประสานสอดคล้อง เอื้อต่อการส่งเสริม สนับสนุนกิจการคณะสงฆ์ สร้างความรู้ ความเข้าใจหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา สร้างจิตสำนึกด้านคุณธรรม จริยธรรมแก่ประชาชน จัดประชุม สัมมนา และฝึกอบรม เพื่อพัฒนาพระสงฆ์และบุคลากรทางศาสนา ให้มีศักยภาพในการธำรงรักษา เผยแผ่หลักคำสอน และเป็นแกนหลักในการพัฒนาจิตใจในวงกว้าง

๔. ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
เสริมสร้างและพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ให้เอื้อต่อการศึกษา เพื่อสร้างจิตสำนึกและความภาคภูมิใจในความเป็นไทย สนับสนุนให้มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น มาเป็นรากฐานของการพัฒนาอย่างมีดุลยภาพ

ระเบียบห้องสมุด

หมวดที่ 1

บททั่วไป
ข้อ 1. ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบห้องสมุดและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ พ.ศ.2542″
ข้อ 2. ให้ยกเลิก ประกาศวิทยาเขต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปภัมถ์ วิทยาเขตเชียงใหม่ เรื่องระเบียบ กิจการห้องสมุด วิทยาเขตเชียงใหม่ พ.ศ. 2539
ข้อ 3. ให้ใช้ระเบียบนี้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ 4. บรรดากฎ ข้อบังคับ คำสั่ง ระเบียบ หรือ ประกาศอื่นใดที่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
ข้อ 5. ตามระเบียบนี้
“ระเบียบห้องสมุด” หมายถึง ระเบียบห้องสมุดและเทคโนโลยีสารสนเทศมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขต เชียงใหม่ พ.ศ.2542
“มหาวิทยาลัย” หมายถึง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่
“ห้องสมุด” หมายถึง ฝ่ายห้องสมุดและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่
“รองอธิการบดี” หมายถึง รองอธิการบดีวิทยาเขตเชียงใหม่
“ผู้ช่วยอธิการบดี” หมายถึง ผู้ช่วยอธิการบดีวิทยาเขตเชียงใหม่
“คณะกรรมการ” หมายถึง คณะกรรมการห้องสมุด วิทยาเขตเชียงใหม่
“บรรณารักษ์” หมายถึง บรรณารักษ์ห้องสมุด วิทยาเขตเชียงใหม่
“เจ้าหน้าที่ห้องสมุด” หมายถึง เจ้าหน้าที่ห้องสมุด วิทยาเขตเชียงใหม่
“ผู้ใช้” หมายถึง ผู้ใช้บริการของห้องสมุด ตามข้อ14 และสมาชิกตาม ข้อ 15
ข้อ 6. ให้รองอธิการบดี รักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้

หมวดที่ 2

คณะกรรมการ
ข้อ 7. ให้มีคณะกรรมการห้องสมุด วิทยาเขตเชียงใหม่ ประกอบด้วย
7.1 ประธานกรรมการ ได้แก่ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
7.2 รองประธานกรรมการ ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการ วิทยาเขตเชียงใหม่
7.3 กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่
7.2.1 ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์เชียงใหม่
7.2.2 ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ลำพูน
7.4 ตัวแทนหัวหน้าหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต พุทธศาสตรบัณฑิต วิชาเอกต่าง ๆ ซึ่งรองอธิการบดีแต่งตั้งโดย คำแนะนำของผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์เชียงใหม่ จำนวนไม่เกิน 4 ท่าน
7.5 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรองอธิการบดีแต่งตั้งโดยคำแนะนำของผู้อำนวยการสำนักวิชาการจำนวนไม่เกิน 4 ท่าน
7.6 กรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง ได้แก่ หัวหน้าฝ่ายห้องสมุดและเทคโนโลยีสารสนเทศ
ข้อ 8. กรรมการตามข้อ 7.3 และ 7.4 มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 2 ปี
ข้อ 9. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
9.1 ให้คำปรึกษาและส่งเสริมกิจการห้องสมุดให้เจริญยิ่งขึ้น
9.2 กำหนดนโยบายในการจัดชื้อจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ ปรับปรุงหลักปฏิบัติให้เป็นไปตาม มาตรฐานของห้องสมุด ระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย
9.3 ออกประกาศเพื่อใช้ปฏิบัติงานภายในห้องสมุด ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

หมวดที่ 3

กำหนดเวลาให้บริการ
ข้อ 10. ห้องสมุดเปิดให้บริการ เวลา 09.00 – 17.00 น. ยกเว้น วันอาทิตย์ วันพระ และวันหยุดตามนักขัตฤกษ์
ข้อ 11. รองอธิการบดี หรือประธานกรรมการห้องสมุด หรือผู้อำนวยการสำนักวิชาการวิทยาเขตชียงใหม่มีอำนาจย่นหรือขยายเวลา หรืองดการให้บริการห้องสมุดตามความจำเป็นโดยประกาศให้ผู้ใช้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน

หมวดที่ 4

ประเภททรัพยากรของห้องสมุด
12.1 วัสดุตีพิมพ์ (Printed Materials)
12.2 วัสดุไม่ตีพิพม์ (Non-Printed Materials)
ข้อ 13. การให้ยืมทรัพยากรห้องสมุด ให้เป็นไปตามประกาศของห้องสมุด

หมวดที่ 5

ผู้มีสิทธิ์ใช้บริการห้องสมุด
ข้อ 14. ผู้มีสิทธิ์ใช้บริการของห้องสมุด ได้แก่
14.1 คณาจารย์
14.1.1 อาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย
14.1.2 อาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัย
14.2 นิสิต
14.2.1 นิสิตระดับปริญญา
14.2.2 นิสิตระดับประกาศนียบัตร
14.3 นักเรียนโรงเรียนบาลีสาธิตศึกษาของมหาวิทยาลัย
14.4 เจ้าหน้าที่ประจำ และลูกจ้างประจำของมหาวิทยาลัย
14.5 บุคคลภายนอก
14.6 บุคคลที่มีอุปการะคุณของห้องสมุด

หมวดที่ 6

การเป็นสมาชิกห้องสมุดและสิทธิในการใช้บริการ
ข้อ 15. สมาชิกห้องสมุดมี 2 ประเภทดังนี้
15.1 สมาชิกสามัญ
15.2 สมาชิกกิตติศักดิ์
ข้อ 16. สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลที่ระบุไว้ใน ข้อ 14.1 ถึงข้อ 14.5 ในการเข้าเป็นสมาชิกจะต้องดำเนินการ ดังนี้
16.1 บุคคลตามข้อ 14.1.1 และข้อ 14.4 ต้องแสดงบัตรประจำตัวบุคลากรของมหาวิทยาลัย หรือหนังสือรับรองจากผู้บังคับ บัญชาระดับผู้อำนวยการขึ้นไป
16.2 บุคคลตามข้อ 14.1.2 ต้องมีหนังสือรับรองจากหัวหน้าหลักสูตร
16.3 บุคคลตามข้อ 14.2 ต้องแสดงบัตรประจำตัวนิสิตและใบเสร็จรับเงินการลงทะเบียนหรือใบสำคัญแสดงการลงทะเบียนของ นิสิตในภาคเรียนนั้น ๆ
16.4 บุคคลตามข้อ 14.3 ต้องแสดงบัตรประจำตัวนักเรียนบาลีสาธิต และใบเสร็จรับเงินการลงทะเบียนหรือใบสำคัญแสดงการลง ทะเบียนของนักเรียนบาลีสาธิต
16.5 บุคคลตามข้อ 14.5 ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน และหลักฐานอื่น ๆ ที่ห้องสมุดระบุให้นำมาแสดงเป็นหลักฐาน
ข้อ 17. สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่บุคคลตามข้อ 14.6 โดยอนุมัติของรองอธิการบด
ข้อ 18. ผู้มีสิทธิยืมทรัพยากรห้องสมุดและใช้บริการบางประเภท จะต้องเป็นสมาชิกห้องสมุดเท่านั้น
ข้อ 19. การทำบัตรสมาชิก จำนวนทรัพยากรและระยะเวลาที่ให้ยืม ให้เป็นไปตามประกาศของ ห้องสมุด

หมวดที่ 7

หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ใช้บริการห้องสมุด
ข้อ 20. ผู้ใช้บริการห้องสมุดต้องปฏิบัติตามระเบียบห้องสมุด ประกาศ หรือคำสั่งของห้องสมุดโดยเคร่งครัด หากฝ่าฝืน หัวหน้า ฝ่ายห้องสมุดและ สารสนเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจดำเนินการ ดังนี้
20.1 ตักเตือน
20.2 เชิญให้ออกนอกบริเวณห้องสมุด
20.3 ประกาศให้ทราบพฤติกรรมของการฝ่าฝืน
20.4 ตัดสิทธิ์การใช้ห้องสมุด
20.5 เสนอให้พิจารณาลงโทษทางวินัย หรือกฎหมาย
ข้อ 21. ผู้ใช้บริการห้องสมุด ต้องตรวจดูความชำรุดเสียหายของทรัพยากรห้องสมุดก่อนการยืม หาก พบให้แจ้งบรรณารักษ์ หรือ เจ้าหน้าที่ห้องสมุดทราบทันที มิฉะนั้นผู้ยืมต้องรับผิดชอบในการชำรุดเสียหายของทรัพยากรที่ยืม
ข้อ 22. ผู้ใช้บริการห้องสมุด ต้องรับผิดชอบต่อทรัพยากรห้องสมุดที่ยืมไป ดังนี้
22.1 หากทรัพยากรห้องสมุดชำรุดเสียหาย ผู้ยืมต้องชดใช้ค่าเสียหายเพื่อการซ่อมแซมตามจำนวนที่ซ่อมแซมหากไม่สามารถ ซ่อมแซมได้ต้องชดใช้โดยการซื้อในรายการที่เหมือนกันหรือใหม่กว่าของเดิม
22.2 หากทรัพยากรห้องสมุดสูญหาย ผู้ยืมต้องชดใช้โดยการซื้อ ในรายการที่เหมือนกัน หรือใหม่กว่าของเดิม และในกรณีที่ แจ้งหายภายหลังวันกำหนดส่ง ต้องชำระค่าปรับด้วย
22.3 ทรัพยากรที่ชำรุดเสียหายตามข้อ 22.1 และสูญหายตามข้อ 22.2 ในกรณีที่ไม่สามารถซื้อมาใช้ได้ ต้องชำระค่าเสียหาย เป็น3 เท่า ของราคาทรัพยากรนั้น
ข้อ 23. ผู้ใช้บริการห้องสมุดจะต้องรับผิดชอบระวังทรัพย์สินส่วนตัว รวมทั้งต้องป้องกัน และใช้ทรัพย์สินของห้องสมุดอย่างระมัด ระวังกรณีที่ผู้ใช้บริการห้องสมุดพบบุคคลที่น่าสงสัยหรือมีพิรุธ ที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย แก่ทรัพย์สินของสมุด จะต้องแจ้ง ให้บรรณารักษ์หรือเจ้าหน้าที่ห้องสมุดทราบ ทั้งนี้หากพบว่าบุคคลดังกล่าวได้กระทำให้เกิดความเสียหายจริง หัวหน้าฝ่ายห้อง สมุดและเทคโนโลยีสารสนเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย จะดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมายต่อไป
ข้อ 24. ในการยืม หรือการใช้บริการทรัพยากรห้องสมุดบางชนิด ผู้ใช้อาจต้องเสียค่าบริการสำหรับการยืมหรือการใช้ทรัพยากรห้อง สมุดที่ ต้องเสียค่าบริการ และอัตราค่าบริการให้เป็นไปตาม ประกาศของมหาวิทยาลัย
ข้อ 25. ผู้ใช้บริการที่ยืมทรัพยากรห้องสมุดไปและนำส่งหลังวันกำหนดส่ง ต้องชำระค่าปรับอัตราค่าปรับให้เป็นไปตามประกาศของ มหาวิทยาลัย
ข้อ 26. อัตราค่าธรรมเนียมของห้องสมุด ให้เป็นไปตามประกาศมหาวิทยาลัย เงินค่าบริการ ค่าปรับและค่าธรรมเนียมถือเป็นรายได้ ของ มหาวิทยาลัย โดยให้นำไปใช้ในกิจการของห้องสมุด

ข้อควรปฏิบัติในการใช้ห้องสมุด

ข้อ 1. ต้องเคารพต่อสถานที่ โดยแต่งกายให้สุภาพ/นุ่งห่มให้เรียบร้อย
ข้อ 2. ต้องสำรวมกิริยาไม่พูดคุยเสียงดัง และไม่ปฏิบัติตนเป็นที่รบกวนผู้อื่น
ข้อ 3. ต้องปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดก่อนเข้าห้องสมุด
ข้อ 4. ต้องแสดงบัตรประจำตัว/บัตรสมาชิก ทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่ขอตรวจ
ข้อ 5. ไม่ใช้สมุด หนังสือ หรือสิ่งของวางจองที่นั่ง
ข้อ 6. ห้ามนำอาหาร เครื่องดื่มเข้าห้องสมุด
ข้อ 7. ห้ามนำสัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้าห้องสมุด
ข้อ 8. ห้ามทำความสกปรกในห้องสมุด
ข้อ 9. ห้ามเล่นการพนัน และเกมในห้องสมุด
ข้อ 10. ห้ามนำอาหาร เครื่องดื่มเข้าห้องสมุด
ข้อ 11. ต้องแสดงหนังสือ เอกสาร สิ่งของ ต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ตรวจก่อนออกจากห้องสมุด
ข้อ 12. ห้ามนำทรัพยากรห้องสมุดที่ไม่ได้ยืมอย่างถูกต้องตามระเบียบออกจาก ห้องสมุด
ข้อ 13. ต้องนำทรัพยากรห้องสมุดที่ยืมไปส่งคืนห้องสมุดตามเวลาที่กำหนด
ข้อ 14. ต้องดูแลทรัพย์สินส่วนตัว หากสูญหาย ห้องสมุดจะไม่รับผิดชอบ
ข้อ 15. ไม่นำกระเป๋าใส่หนังสือ ย่าม หีบห่อเข้าห้องสมุด ให้ฝากหรือวางไว้ใน ที่จัดไว
ข้อ 16. ให้ความร่วมมือในการสอดส่องดูแลบุคคลที่มีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ และแจ้งบรรณารักษ์หรือเจ้าหน้าที่ห้องสมุดทราบ

บทลงโทษผู้ฝ่าฝืนระเบียบของห้องสมุด

หากผู้ใช้บริการห้องสมุดไม่ปฏิบัติหรือฝ่าฝืนข้อปฏิบัติข้างต้น ฝ่ายห้องสมุดและเทคโนโลยีสารสนเทศ มีอำนาจดำเนินการตามมาตรการข้อ 20 แห่งระเบียบห้องสมุด พ.ศ. 2542 ดังนี้
ข้อ 1. ตักเตือน
ข้อ 2. เชิญให้ออกนอกบริเวณห้องสมุด
ข้อ 3. ประกาศให้ทราบพฤติกรรมของการฝ่าฝืน
ข้อ 4. ตัดสิทธิ์การใช้ห้องสมุด
ข้อ 5. เสนอให้พิจารณาลงโทษทางวินัย หรือกฎหมาย

การสมัครสมาชิกห้องสมุด

การทำบัตรสมาชิกให้ปฏิบัติ ดังนี้
ข้อ 1. คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ประจำ ประสงค์จะทำบัตรสมาชิกให้นำรูปถ่ายหน้าตรงขนาด 1 นิ้วจำนวน 2 รูปและบัตรประจำตัว ในกรณีไม่มีบัตรประจำตัวต้องมีลายเซ็นรับรองจากผู้บังคับบัญชา พร้อมค่าธรรมเนียมทำบัตรสมาชิก 20 บาท
ข้อ 2. นิสิตทุกประเภท ประสงค์จะทำบัตรสมาชิกให้นำรูปถ่ายหน้าตรงขนาด 1 นิ้วจำนวน 2 รูป ใบเสร็จรับเงินแสดงการลงทะเบียน หรือใบสำคัญแสดงการลงทะเบียนมาแสดงต่อห้องสมุด
ข้อ 3. นักเรียนบาลีสาธิต ประสงค์จะทำบัตรสมาชิกให้นำรูปถ่ายหน้าตรงขนาด 1 นิ้วจำนวน 2 รูป บัตรประจำตัวนักเรียน ใบเสร็จรับเงินแสดงการลงทะเบียนหรือชำระค่าบำรุงห้องสมุดมาแสดงต่อห้องสมุด
ข้อ 4. บุคคลภายนอก ประสงค์จะทำบัตรสมาชิกให้นำรูปถ่ายหน้าตรงขนาด 1 นิ้วจำนวน 2 รูป หนังสือรับรอง และค้ำประกันตามแบบฟอร์มที่ห้องสมุดกำหนด พร้อมค่าธรรมเนียมการทำบัตรสมาชิก 20 บาท ค่าบำรุงห้องสมุดปีละ 200 บาท และค่าประกันของเสียหาย 100 บาท มามอบให้ห้องสมุด หากค้ำประกันโดยคณาจารย์ ให้ยกเว้นค่าประกันของเสียหาย ค่าประกันของเสียหายจะคืนให้เมื่อลาออกจากการเป็นสมาชิก
ข้อ 5. บัตรสมาชิกทุกประเภทหากชำรุดหรือเสียหาย และประสงค์จะทำบัตรใหม่ต้องชำระค่าธรรมเนียม 20 บาท
ข้อ 6. บัตรสมาชิกที่ออกให้ตามข้อ 2 และข้อ 3 ต้องต่ออายุทุกภาคการศึกษา
ข้อ 7. บัตรสมาชิกที่ออกให้ตามข้อ 1 และข้อ 4 มีอายุการใช้ 1 ปี่

อ้างอิงจาก : ห้องสมุดมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่

แผนที่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

คุณอาจจะใช้ป้ายกำกับและคุณสมบัติHTML: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>