ประวัติความเป็นมา

65497

ห้องสมุดมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ เปิดบริการครั้งแรกเมื่อ วันที่ 18 มิถุนายน 2527 โดยใช้ห้องเรียน โรงเรียนพระปริยัติธรรมของวัดสวนดอก 1 ห้อง ขนาด 36 ตารางเมตร โดยในระยะแรกผู้ช่วยศาสตราจารย์รุ่งเรือง บุญโญรส อาจารย์จากภาควิชา ปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งวิทยาลัยสงฆ์ลานนา (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมหาจุฬา ลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่) ได้นำหนังสือส่วนตัวจำนวนหนึ่ง ( ประมาณ 1,000 เล่ม ) มาจัดตั้งห้องสมุด เพื่อให้บริการแก่พระนิสิตรุ่นแรก พร้อมทั้งชักชวนผู้มีจิตศรัทธาให้ร่วมบริจาควัสดุอุปกรณ์และ หนังสือให้ ห้องสมุด อีกจำนวนมาก

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2534 คณะผู้บริหาร มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ได้ดำเนินการจัดสร้างอาคารเรียนขนาด 3 ชั้น สร้างเสร็จเมื่อ เดือนกันยายน 2536 ห้องสมุดจึงได้ทำการย้ายเข้าอยู่ชั้นที่ 2 ของอาคารหลังใหม่เมื่อ วันที่ 4 ตุลาคม 2536 เป็นต้นมา ห้องสมุดมีขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว18 เมตร มีพื้นที่นั่งอ่านประมาณ 60 ที่นั่ง

ปีการศึกษา 2539 คุณธีระศักดิ์ ไพโรจน์สถาพร ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารสถาบันวิทยบริการเพื่อใช้เป็นอาคารห้องสมุด จำนวนรวม 3 อาคารติดต่อกัน มีพื้นที่ใช้สอยรวม 1,943 ตารางเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้าง 15 ล้านบาท เมื่อเสร็จสมบูรณ์ แล้วห้องสมุด ได้ย้ายจาก อาคารเดิมมายังอาคารสถาบันวิทยบริการ เมื่อวันที่ 24-30 กันยายน 2540 และทำพิธีรับมอบอาคาร สถาบันวิทยบริการ ( อาคารธีระศักดิ์ – ไพโรจน์สถาพร) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2540 และเปิดอาคารห้องสมุดเพื่อให้บริการแก่ คณาจารย์ พระนิสิตและ บุคคลทั่วไปในภาคการศึกษาที่ 2/2540 จนถึงปัจจุบัน

 

ข้อมูลเกี่ยวกับฝ่ายห้องสมุด

สุภาษิต

ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต
แปลว่า ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก

ปรัชญา

ศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจและสังคม

ปณิธาน

ศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง สำหรับพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์

วิสัยทัศน์ (Vision)

ผลิตคนดีและเก่ง อย่างมีสมรรถภาพ
จัดการศึกษาและวิจัยดีอย่างมีคุณภาพ
บริการวิชาการดีอย่างมีสุขภาพ
บริหารดีอย่างมีประสิทธิภาพ

ผลิตคนดีและเก่ง อย่างมีสมรรถภาพ
ผลิตบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรให้เป็นผู้มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส ใฝ่รู้ ใฝ่คิด เป็นผู้นำจิตใจและปัญญา มีโลกทัศน์กว้างไกล มีความสามารถในการแก้ปัญหา มีศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนาและพัฒนาสังคม

จัดการศึกษาและวิจัยดีอย่างมีคุณภาพ
จัดการศึกษาและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ โดยบูรณาการวิชาการด้านพระพุทธศาสนาเข้ากับศาสตร์สมัยใหม่ทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ ผ่านกระบวนการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ และเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนา มนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล และสันติสุข

บริการวิชาการดีอย่างมีสุขภาพ
มุ่งมั่นในการให้บริการวิชาการด้านพระพุทธศาสนาแก่คณะสงฆ์และสังคม รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ และความร่วมมืออันดีระหว่างพุทธศาสนิกชนในระดับชาติ และนานาชาติ เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ และวัฒนธรรม อันเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา

บริหารดีอย่างมีประสิทธิภาพ
มุ่งพัฒนาการบริหารจัดการตามหลักนิติธรรม จริยธรรม ความสำนึกรับผิดชอบ การมีส่วนร่วม ความโปร่งใสตรวจสอบได้ และความคุ้มค่า รวมทั้งสนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง

พันธกิจ (Mission)

๑. ผลิตบัณฑิต
ผลิตและพัฒนาบัณฑิตให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ๙ ประการ คือ มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส ใฝ่รู้ใฝ่คิด เป็นผู้นำด้านจิตใจและปัญญา มีความสามารถในการแก้ปัญหา มีศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา รู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม มีโลกทัศน์ กว้างไกล มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเอง ให้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม

๒. วิจัยและพัฒนา
การวิจัยและค้นคว้า เพื่อสร้างองค์ความรู้ควบคู่ไปกับกระบวนการเรียนการสอน เน้นการพัฒนาองค์ความรู้ในพระไตรปิฎก โดยวิธีสหวิทยาการแล้วนำองค์ความรู้ที่ค้นพบมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหา ศีลธรรม และจริยธรรมของสังคม รวมทั้งพัฒนา คุณภาพงานวิชาการด้านพระพุทธศาสนา

๓. ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคม
ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคม ตามปณิธานการจัดตั้งมหาวิทยาลัย ด้วยการปรับปรุงกิจกรรมต่างๆ ให้ประสานสอดคล้อง เอื้อต่อการส่งเสริม สนับสนุนกิจการคณะสงฆ์ สร้างความรู้ ความเข้าใจหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา สร้างจิตสำนึกด้านคุณธรรม จริยธรรมแก่ประชาชน จัดประชุม สัมมนา และฝึกอบรม เพื่อพัฒนาพระสงฆ์และบุคลากรทางศาสนา ให้มีศักยภาพในการธำรงรักษา เผยแผ่หลักคำสอน และเป็นแกนหลักในการพัฒนาจิตใจในวงกว้าง

๔. ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
เสริมสร้างและพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ให้เอื้อต่อการศึกษา เพื่อสร้างจิตสำนึกและความภาคภูมิใจในความเป็นไทย สนับสนุนให้มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น มาเป็นรากฐานของการพัฒนาอย่างมีดุลยภาพ

ที่ตั้ง

ฝ่ายห้องสมุดและเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่
139 ถ.สุเทพ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200

แผนที่