15 ก.พ. 2015
by adminin พิพิธภัณฑ์ Tags: เรือนล้านนา, เรือนโบราณล้านนาเชียงใหม่, เฮือนล้านนาเชียงใหม่
ตั้งอยู่ที่ถนนห้วยแก้ว ติดถนนเรียบคลองชลประทาน ใกล้สี่แยกตลาดต้นพะยอม อยู่ในสังกัดสำนักงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รวบรวมเรือนโบราณที่ทั้งได้รับจากการบริจาคและขายให้กับพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วยกลุ่มเรือนโบราณที่ควรค่าแก่การรักษาและอนุรักษ์ จำนวน 8 หลัง ได้แก่
เรือนไทยลื้อ (หม่อนตุด) เป็นเรือนไม้ขนาดกลาง มีลักษณะสองหลังหน้าเปียง ด้านตะวันออกเป็นเรือนนอนโล่งกว้าง ด้านตะวันตกเป็นเรือนครัว ระหว่างชายคาของเรือน ทั้งสองเชื่อมต่อกันเป็นรางน้ำฝนเรียกว่า “ฮ่องลิน” หลังคามุงด้วยแป้นเกล็ด
เรือนลุงคิวเป็นอาคารรูปทรงอิทธิพลสถาปัตยกรรมตะวันตกหรือทรงอาณานิคมหรือแบบโคโลเนียล สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2465
เรือนกาแล (อุ๊ยผัด) เรือนหลังนี้มีลักษณะเด่นของเรือนกาแลคือ มีหัมยนต์ติดบริเวณด้านบนของประตูห้องนอนเพื่อทำหน้าที่เป็นยันต์อันศักดิ์สิทธิ์คอยป้องกันและขับไล่อันตรายต่างๆจากภายนอก
เรือนพื้นบ้านล้านนาอุ๊ยแก้ว เป็นรูปแบบเรือนของคนที่อาศัยใกล้เวียงเชียงใหม่ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ลักษณะ การจัดพื้นที่ใช้สอยยังเป็นแบบบ้านชนบทแต่ทำฝาและประตูหน้าต่างแบบใหม่
เรือนกาแล (พญาวงศ์) เป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงหลังคาทรงหน้าจั่ว มีลักษณะเด่นคือ “กาแล”ซึ่งเป็นเครื่องหมายของความเป็นสิริมงคล ลักษณะเป็นไม้แกะสลักยื่นเลยจากปั้นลมไปไขว้กันที่ยอดจั่วเรือน
เรือนชาวเวียงเชียงใหม่ (พญาปงลังกา) เป็นเรือนไม้ขนาดกลาง ลักษณะเป็นเรือนหลังคาทรงจั่ว สองจั่วเหลื่อมกัน
เรือนทรงปั้นหยา (อนุสารสุนทร) ยุ้งข้าวหรือหลองข้าว เป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่สองชั้น หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา (ดินขอ) ลักษณะเป็นทรงปั้นหยาเหลื่อมซ้อนกันอย่างลงตัว
นอกจากนี้ภายในพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา ยังมีการสาธิตการทำหัตถกรรมพื้นบ้านที่สวยงามและทรงคุณค่าในอดีต อาทิ การย้อมผ้าด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ การทอผ้าด้วยกี่เอว การทำเครื่องเงิน การฉลุลายผ้าและกระดาษสาเป็นลวดลายต่างๆ
ที่นี่เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันจันทร์- ศุกร์ เวลา8.30 – 16.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.053943625 โทรสาร 053222680
ที่มา http://thai.tourismthailand.org
15 ก.พ. 2015
by adminin พิพิธภัณฑ์ Tags: หอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่
เป็นอาคารเก่าแก่ที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมอันงดงามสร้างเมื่อ ปี 2467 เคยใช้เป็นหอคำ ศาลาว่าการรัฐบาลมณฑลพายัพศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ อาคารตั้งยู่บริเวณสะดือเมืองในอดีต ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของเสาอินทขิลหรือเสาหลักเมือง ก่อนที่จะย้ายไปไว้ที่วัดเจดีย์หลวง เดิมเป็นมรดกตกทอดกันมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าการวิโรรสสุริยวงศ์ ถึงเจ้าเทพไกรสรพระธิดา ซึ่งเสกสมรสกับเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่คนที่ 7 ผู้ใช้หอคำซึ่งอยู่ในบริเวณคุ้มกลางเวียงเป็นศูนย์กลางการบริหารนครเชียงใหม่ เมื่อเจ้าอิทวิชยานนท์ถึงแก่พิราลัยจึงตกเป็นของเจ้าดารารัศมีพระธิดา ต่อมาเมื่อ จัดการปฏิรูป การปกครองตามระบบเทศาภิบาลเจ้าดารารัศมีจึงใช้คุ้มกลางเวียงแห่งนี้เป็น“ศาลารัฐบาล”หรือที่ทำการรัฐบาล
ต่อมาเมื่อจังวัดเชียงใหม่ ได้เริ่มใช้ศาลากลางลังใหม่ บนถนนโชตนาเป็นศูนย์ราชการจังหวัด และได้ย้ายหน่วยงาน ออกหมดในปี 2539 อาคารหลังนี้จึงถูกทิ้งร้างไว้โดยไม่มีหน่วยงานใดเข้าไว้ใช้ประโยชน์จนถึงปลายปี 2540 เทศบาล นครเชียงใหม่ได้ขอปรับปรุงอาคารเพื่อใช้เป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ และได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำป?2542 ประเภทที่ทำการอาคารสาธารณะจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระราชูปถัมภ์
เชียงใหม่นอกจากจะเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องธรรมชาติอันงดงามจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแล้ว ยังเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม ในอดีตนครแห่งนี้เป็น ศูนย์กลางในทุกด้านขอาณาจักรล้านนาทั้งการปกครอง เศรษฐกิจ ศาสนาและวรรณกรรม แต่ที่ผ่านมายังขาดแหล่งที่เป็นศูนย์กลางให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้ ลูกหลานชาวเชียงใหม่นักท่องเที่ยว ตลอดจนผู้สนใจได้ศึกษาข้อมูลอย่างถูกต้องและครอบคลุมในทุกด้าน
หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่
จึงเกิดขึ้น เพื่อให้คนในท้องถิ่นได้รับรู้ถึงคุณค่าของประวัติศาสตร์ รู้รากเหง้าของตนเองและบ้านเมืองรู้จักวิถีชีวิตตลอดจนศิลปวัฒนธรรมและประเพณีของตนเองอันจะสร้างความภาคภูมิใจและจิตสำนึกในการรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันดีงานให้คงอยู่สิบไป นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวในเชินุรักษ์ในเขตเมืองเก่า เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเรียนรู้และเข้าใจ นครเชียงใหม่ตลอดจนผู้คนในท้องถิ่น อันเป็นหัวใจสำคัญของการท่องเที่ยวเชิดชูอนุรักษ์
ภายในหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ได้จัดแบ่งพื้นที่อาคารด้านหน้าเป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการถาวร อาคารด้านหลังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมทาวัฒนธรรมนิทรรศการหมุนเวียน ห้องจำหน่ายของที่ระลึก ห้องนิทรรศการศิลปกรรมล้านนาห้องสารสนเทศ และห้องภัณฑารักษ์
ที่มา http://www.cmocity.com/historyhall01.html
15 ก.พ. 2015
by adminin พิพิธภัณฑ์ Tags: วัดเกตการาม, วัดเกตการาม เชียงใหม่
หรือ วัดสระเกษ เป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นในสมัย พระเจ้าสามฝั่งแกน โดยโปรดฯ ให้พระยาเมือง พระยาคำ และพระยาลือ สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 1971 ภายในวัดมีพระเจดีย์เกศแก้วจุฬามณี ซึ่งเป็นที่สักการะของชุมชน เนื่องด้วยตั้งอยู่ในชุมชนการค้าเก่าของชาวจีน ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง สิ่งก่อสร้างในยุคหลังที่ได้บูรณะขึ้น จึงมีศิลปะจีนปนอยู่ ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเครื่องใช้โบราณต่างๆ และรูปเก่าที่หาชมยาก บอกเล่าเรื่องราวเก่าของเมืองเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี
?
ศาสนสถานและปูชนียวัตถุภายในวัดเกตการาม ประกอบด้วย
พระเจดีย์เกศแก้วจุฬามณี เป็นเจดีย์ประธานทรงระฆังแบบล้านนา ซึ่งจำลองจากพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อให้สาธุชนได้สักการะ ฐานเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมแบบย่อเก็จ มีซุ้มจระนำประดิษฐานองค์พระทั้งสี่ทิศ ส่วนบนตั้งแต่ปากระฆังถึงปลียอด ประดับด้วยทองจังโกดุนลาย โดยรอบมีเจดีย์บริวารทั้งสี่มุม
พระวิหาร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงล้านนา หน้าบันประดับไม้แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษา บัวหัวเสาประดับด้วยแก้วอังวะ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นประธาน
พระอุโบสถ ก่ออิฐถือปูนรูปทรงล้านนา เชิงบันไดประดับปูนปั้นรูปนาค ผนังด้านหน้าพระอุโบสถประดับปูนปั้นรูปกิเลน สิงโต ปลา และลวดลายศิลปะจีน ประตูไม้แกะสลักเป็นรูปเทวดา หน้าบันประดับด้วยลายพรรณพฤกษา
ศาลาบาตร ศาลาก่ออิฐถือปูน ผนังประดับลายปูนปั้น ภายในมีงานจิตรกรรมจีน รวมทั้งเป็นที่เก็บรักษาหางหงส์เก่าและกลองหลวง
พิพิธภัณฑ์วัดเกตการาม ตั้งอยู่บริเวณกุฏิเก่าเจ้าอาวาส หรือ โฮงตุ๊เจ้าหลวง สร้างขึ้นด้วยการร่วมแรงร่วมใจของทางวัดและชุมชน ในการรวบรวมเอาเครื่องใช้ต่างๆ มาบริจาคและจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งล้วนแต่เก่าแก่อายุร่วมร้อยปี อันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าของคนในยุคก่อนได้เป็นอย่างดี อาทิเช่น พระพิมพ์ ตาลปัตร พัดยศของพระภิกษุ คัมภีร์ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องครัวจากไม้ เครื่องแก้ว เครื่องเขิน เครื่องเล่นแผ่นเสียง ผ้าโบราณ และรูปถ่ายโบราณที่หาชมได้ยาก
วัดเกตการาม ตั้งอยู่ที่ ถ.เจริญราษฎร์ ต.วัดเกต อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่
ที่มา http://www.comingthailand.com
15 ก.พ. 2015
by adminin พิพิธภัณฑ์ Tags: พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย เชียงใหม่
ธนาคารแห่งประเทศไทย มีนโยบายส่งเสริม ให้สำนักงานภาค ของธนาคาร แห่งประเทศไทยมีบทบาท ในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจท้องถิ่น นอกเหนือจากหน้าที่ดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีนโยบาย รวมถึงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม และโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่าของท้องถิ่น ตลอดจนเพื่อส่งเสริม และ สนับสนุน การอนุรักษณ์ศิลปวัฒนธรรมของประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานภาค มีประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตผู้คน ธรรมชาติ ตลอดจน ศิลปวัฒนธรรม ที่สูงค่า และเป็นเอกลักษณ์ สั่งสมมา เป็นเวลายาวนานถึง 700 กว่าปี ด้วยตระหนัก ในคุณค่าเหล่านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมสืบสาน มรดกอันล้ำค่านี้ด้วยการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือเพื่อเป็นศูนย์กลาง การเผยแพร่ความรู้ด้าน เงินตราและผ้าไท แก่บุคคลทั่วไป ในรูปแบบของ พิพิธภัณฑ์เงินตรา และผ้าโบราณ ทั้งนี้เพื่อให้ชนรุ่นหลังตระหนักถึง คุณค่าแห่งมรดก ทางวัฒนธรรมของชาติ และร่วมอนุรักษณ์สิ่งมีค่าเหล่านี้ มิให้สูญหายไปจากแผ่นดิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รับ พระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้า โปรดกระหม่อม จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน เปิดพิพิธภัณฑ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ อย่างเป็น ทางการ เมื่อวันพุธที่ 1 มีนาคม พศ.2543
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1
เป็นการจัดแสดง เรื่องเกี่ยวกับ เงินตรา ของโลกและของประเทศไทย ในยุคสมัยต่างๆ เพื่อให้ทราบถึงความเป็นมา และพัฒนาการในการนำโลหะมีค่า มาผลิตเป็นเงินตรา ซึ่งนำมาใช้เป็นสื่อกลาง ในการแลกเปลี่ยน
ส่วนที่ 2
ห้องผ้า เป็นการจัดแสดง เรื่องเกี่ยวกับ ผ้าโบราณ เพื่อให้ทราบถึงความสำคัญของผ้า ในฐานะที่เป็น เครื่องชี้ความเป็นมาแห่งเชื้อชาติ สะท้อนสภาพ เศรษฐกิจ สังคม ความเชื่อ ศาสนา และวัฒนธรรม ตลอดจน พัฒนาการ ทางภูมิปัญญา
ที่มา พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย เชียงใหม่
15 ก.พ. 2015
by adminin พิพิธภัณฑ์ Tags: Art in Paradise เชียงใหม่, พิพิธภัณฑ์ภาพวาด 3 มิติ, ศูนย์ภาพสามมิติเชียงใหม่
Art in Paradise : Illusion Art Museum พิพิธภัณฑ์ภาพจิตรกรรม 3 มิติ แห่งแรกในจังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งโดยคุณจาง คยู ซุค (Mr. Jang Kyu Suk) ชาวเกาหลีใต้ เป็นผู้สร้างสรรค์และรวบรวมผลงานศิลปะร่วมกับจิตรกรชาวเกาหลีมืออาชีพที่มีผลงานชนะเลิศระดับประเทศกว่า 10 ท่าน โดยใช้เทคนิคการวาดภาพให้สามารถลวงตาผู้ชมได้ หรือที่เรียกว่า Illusion Art ทำให้ผู้ชมสัมผัสและมีส่วนร่วมกับผลงานศิลปะได้อย่างใกล้ชิด (Interactive Art) ให้ความรู้สึกเหมือนจริงเสมือนกับคุณได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของภาพจิตรกรรมที่สวยงาม (Realistic Art)
ในพิพิธภัณฑ์นี้แบ่งภาพวาดออกไปแต่ละแนวและมีจุดเด่นที่แตกต่างกันเป็น 8 โซน ได้แก่ โซน AQUA ภาพวาดโลกใต้ทะเลให้เราได้ท่องดินแดนใต้สมุทร, โซน ZOO สวนสัตว์, โซน DINOSAUR สัตว์โลกล้านปี, โซน SURREALISM ศิลปะเหนือจริง, โซน CLASSIC ART ศิลปะยุคคลาสสิก ที่คุณก็เป็นศิลปินชื่อก้องโลกได้, โซน LANNA (ลานนา) เพลิน ๆ กับวัฒนธรรมล้ำค่า, โซน THAI ประเพณีไทย ซึ่งประกอบไปด้วยภาพการละเล่นของไทยที่สวยงาม และโซน EGYPTIAN อียิปต์โบราณ ให้คุณได้ท่องโลกเปิดประตูไปสู่ดินแดนลี้ลับ ซึ่งคุณสามารถเลือกถ่ายรูปตามความชอบตามแนวที่คุณสนใจได้หลากหลาย
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่เลขที่ 199/9 ถนนเจริญประเทศ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (ห้างสรรพสินค้าสีสวนเก่า) เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-21.00 น. ส่วนบัตรเข้าชมนั้น ผู้ใหญ่ราคา 180 บาท เด็ก (สูงไม่เกิน 120 เซนติเมตร) ราคา 120 บาท (ปิดเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วเวลา 19.30 น.)
ที่มา http://thai.tourismthailand.org
15 ก.พ. 2015
by adminin ศูนย์สารสนเทศ Tags: โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เชียงใหม่, โฮงเฮือนสืบสานภูมิปัญญา
ชุมชนล้านนามีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์อยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอย่างเกื้อกูลกันและกันยาวนานรวมทั้งได้ร่วมกันสร้างสรรค์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งในเรื่องอาหาร ยารักษาโรค งานหัตถกรรมการเกษตรพื้นบ้าน การจัดการทรัพยากรที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีและมีการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างต่อเนื่อง แต่จากการพัฒนาในช่วงที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิต ภูมิปัญญาถูกละเลยจนน่าเป็นห่วง ขาดการสืบทอดจากผู้รู้และพอครูแม่ครู โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่หลงใหลไปกับวัฒนธรรมภายนอกและไม่ได้มีการสืบทอดความรู้ ภูมิปัญญาจากพ่อครูแม่ครูเหล่านี้เลย
ในราวต้นปี ๒๕๔๐ องค์กรต่างๆทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคธุรกิจ สถาบันวิชาการ นักเขียน ศิลปิน กลุ่มศิลปวัฒนธรรม องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชน ได้ปรึกษาหารือตกลงใจร่วมกันว่าควรประสานงานกับคน ทุกกลุ่ม ได้เข้ามาร่วมจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดการสืบทอด ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยร่วมกันจัดงาน”สืบสานล้านนา”ในช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปี ติดต่อกันมาเป็นเวลา ๕ ปี หวังว่าจะส่งผลต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นที่อยู่พื้นฐานวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของท้องถิ่นร่วมกันในอนาคต
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้มีความพยายามขององค์กร ชุมชน กลุ่มคนในท้องถิ่น ภาครัฐ ธุรกิจเอกชน ได้เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสืบทอดอย่างต่อเนื่องในบางชุมชนและมีการจัดงาน “สืบสานล้านนา” ขึ้นในช่วงเดือนเมษายนติดต่อกันมาทุกปีตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมา ก็ยังไม่สามารถก่อให้เกิดการ สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ให้มีความต่อเนื่องและมีกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีความหลากหลายได้
พระเดชพระคุณเจ้าหลวงพ่อพระพุทธพจนวราภรณ์ (พระธรรมดิลก) วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ ได้ให้แนวคิดว่า “การจะสืบสานวัฒนธรรม ภูมิปัญญาล้านนาให้เกิดผลนั้น การจัดงานสืบสานล้านนาเพียงปีละครั้ง ๆ ละ ๔ วัน ไม่สามารถทำให้เกิดผลได้จริง ต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าทุกลมหายใจเลย จึงจะเป็นจริง”
คณะกรรมการจัดงานสืบสานล้านนาได้นำมาปรึกษาหารือมีความเห็นร่วมกันว่าจะต้องทำโครงการที่จะให้เกิดการสืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนาอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง “โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา” ขึ้นในปี ๒๕๔๓ และได้ดำเนินกิจกรรมในการรวบรวมองค์ความรู้ พ่อครู แม่ครู และปราชญ์ชาวบ้านเพื่อทำการถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาให้กับลูกหลานและผู้สนใจในท้องถิ่น ได้เกิดการเรียนรู้และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสาขาต่าง ๆ นอกจากนั้นยังเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ของท้องถิ่นที่มีอยู่ให้มีรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถสืบสานได้อย่างต่อเนื่อง โดยในระยะแรกทางคณะกรรมการและผู้ดำเนินงานได้มีการประสานงานกับพ่อครูแม่ครู ผู้รู้ในท้องถิ่นเปิดสอนวิชาภูมิปัญญาแขนงต่าง ๆ และเปิดรับสมัครนักเรียนและผู้สนใจเข้าเรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านแขนงต่าง ๆ อาทิ การทอผ้า การตัดกระดาษตัดตุง ทำโคม ดนตรีพื้นบ้าน ฟ้อนรำพื้นบ้าน การวาดรูปล้านนา อาหารพื้นบ้าน แกะสลัก จักสาน งานปั้น เป็นต้น มีผู้ให้ความสนใจเข้าเรียนรู้เป็นจำนวนมาก
วัตถุประสงค์
- เพื่อรวบรวมผู้รู้ พ่อครู แม่ครู ช่างพื้นบ้านในแขนงต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชนล้านนา
- ศึกษารวบรวยมข้อมูล องค์ความรู้พื้นบ้านออกมาในรูป ของตำราที่คนรุ่นใหม่ศึกษาได้
- จัดทำหลักสูตร จัดอบรมระยะสั้น
- เผยแพร่ให้ความรู้แก่สาธารณชนให้เห็นความ สำคัญของการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น
- ประสานเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องต่าง
หลักสูตรที่เปิดสอน
- ภาษาล้านนา
- ดนตรีพื้นเมือง
- จักรสาน
- แต่งคร่าว-ซอ
- ฟ้อนพื้นเมือง
- วาดรูปล้านนา
- การทำตุง-โคม
- ฟ้อนดาบ-ฟ้อนเจิง
- ของเล่นเด็ก
- พิธีกรรม
- การทอผ้า
- การปั้น
- เครื่องเขิน
- แกะสลัก
- วิชาทางด้านสล่าเมือง
ที่มา โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เชียงใหม่
15 ก.พ. 2015
by adminin ศูนย์สารสนเทศ Tags: ศูนย์สนเทศภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศูนย์สารสนเทศเชียงใหม่
สารนิเทศที่ให้บริการ
ศูนย์สนเทศภาคเหนือมีทรัพยากรสารนิเทศสำหรับให้บริการแก่ผู้ใช้ ดังนี้
เอกสารข้อมูลภาคเหนือ ซึ่งแบ่งได้ 2 ประเภท คือ
เอกสารตัวพิมพ์ ได้แก่ หนังสือ ตำรา รายงานการประชุมสัมมนา และหนังสืออ้างอิง ซึ่งจัดเก็บตามระบบการจัดหมู่แบบทศนิยมของดิวอี้ โดยเรียงไว้ตามลำดับของเลขเรียกหนังสือ ตั้งแต่หมวด 000-900 ส่วนกฤตภาคและแฟ้มข้อมูลเฉพาะเรื่อง จัดเก็บโดยการเรียงลำดับตามหมายเลขของเอกสาร รวมทั้งจุลสารซึ่งจัดเก็บตามลำดับอักษรของหัวเรื่อง
เอกสารตัวเขียน หรือ เอกสารโบราณ ได้แก่ คัมภีร์ใบลาน พับสา สมุดข่อย และเอกสารต้นฉบับ ซึ่งเอกสารตัวเขียนเหล่านี้จัดเก็บตามระบบการจัดหมวดหมู่เอกสารโบราณ รวมทั้งสิ้น 23 หมวด คือ หมวดพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม คัมภีร์บาลี บทสวดมนต์ อานิสงส์ ชาดก โอวาทคำสอน ประเพณี/พิธีกรรม/พระราชพิธี ธรรมทั่วไป นิยายธรรม นิยายพื้นบ้าน ตำนานพระพุทธศาสนา ตำนานเมือง/ราชวงศ์ กฎหมาย/กฏข้อบังคับต่างๆ ตำราอักษรศาสตร์ กวีนิพนธ์ร้อยกรอง/วรรณคดี ตำราโหราศาสตร์ ตำรายา ตำราต่างๆ จดหมายเหตุราชการ/บุคคล รวมหลายหมวด และเบ็ดเตล็ด
เอกสารหายาก เป็นเอกสารเพื่อการค้นคว้าวิจัยชั้นสูงที่มีคุณค่าและหาได้ยากในห้องสมุดต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่สามารถหาซื้อได้จากสำนักพิมพ์หรือร้ายขายหนังสือทั่วไป อาทิ หนังสืออนุสรณ์งานศพ และหนังสือที่จัดพิมพ์ในโอกาสพิเศษต่างๆ เป็นต้น
เอกสารจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเอกสารที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วยหนังสือราชการ รายงานการประชุม ผลงานทางวิชาการของอาจารย์และข้าราชการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ และเอกสารอื่นๆ อาทิ โปสเตอร์ และแบบแปลนอาคารของหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น
ที่มา ศูนย์สนเทศภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
15 ก.พ. 2015
by adminin ศูนย์สารสนเทศ Tags: คุ้มเจ้าบุรีรัตน์, ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนาคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ เชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ เดือนมิถุนายน 2538 เป็นคณะที่ 17 ของมหาวิทยาลัยและเป็นคณะในกำกับของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2543 โดนมีบัณฑิตจบการศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2542 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทางคณะฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมล้านนา และการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมมาโดยตลอด โดยมีหลักสูตรที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และการประยุกต์งานสถาปัตยกรรมล้านนา ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าใจและมีพื้นฐานทางด้านสถาปัตยกรรม โดยสามารถนำความรู้ดังกล่าวไปปรับใช้กับการออกแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัยได้ อย่างเหมาะสม จากเหตุผลดังกล่าว คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จึงได้มีโครงการจัดตั้งศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนาขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวม จัดเก็บจัดแสดงและศึกษาค้นคว้าข้อมูลด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมล้านนา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นศูนย์กลางสำหรับการเผยแพร่ความรู้แก่นักศึกษา นักวิจัย และผู้สนใจที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาค
ปัจจุบันศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนาเป็นหน่วยงานภายใต้งานศิลปวัฒนธรรมและชุมชน คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำหน้าที่ในการวิจัย จัดเก็บ และเผยแพร่ความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมล้านนา และศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่อง มีที่ทำการ ณ อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ซึ่งเป็นอาคารเก่าอายุประมาณ 120 ปี ซึ่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับบริจาคจากคุณเรียงพันธุ์ ทิพยมณฑล และอาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2544
อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ หรือบางท่านเรียกว่า คุ้มกลางเวียง เดิมเป็นของ เจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์ หลานของเจ้าหลวงคำฝั้น (เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่3) สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2432-2436 ต่อมาเจ้าน้อยชมชื่น ณ เชียงใหม่ บุตรชายเจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์ ได้รับมรดกและเป็นผู้ครอบครองอาคารในระหว่างปี พ.ศ. 2437-2489
นางบัวผัน นิกรพันธ์ (ทิพยมณฑล) ได้ซื้อต่อจากเจ้าบุษบา ณ เชียงใหม่ (ภริยาเจ้าน้อยชมชื่น ณ เชียงใหม่) และเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงญาติคนปัจจุบันคือคุณเรียงพันธุ์ ทิพยมณฑล (บุตรีนางบัวผันและเป็นน้าสาว ของอาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร) วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2544 ตระกูลกิติบุตรและทิพยมณฑล ได้มอบอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์ ให้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ใช้เป็นที่ทำการของศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา ภายใต้การดูแล และดำเนินงานของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
ที่มา ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนาคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ เชียงใหม่
15 ก.พ. 2015
by adminin ศูนย์สารสนเทศ Tags: ศูนย์ข้อมูลภาคเหนือ, ศูนย์ข้อมูลภาคเหนือ มหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่, ศูนย์ข้อมูลมหาวิทยาลัย
ข้อมูลทั่วไปของศูนย์ข้อมูลภาคเหนือแห่งนี้
สถานที่ : ศูนย์ข้อมูลภาคเหนือ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยพายัพ
ที่อยู่ : มหาวิทยาลัยพายัพเขตแม่คาว
ถนนซูเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50000
โทรศัพท์ : 0-5324-1255, 0-5385-1478
เว็บไซต์ : http://lib.payap.ac.th/ntic/
ผมขอเล่าข้อมูลคร่าวๆ ก่อนนะครับ เกี่ยวกับศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นภาคเหนือ
ที่นี่มีขอบเขตในการจัดเก็บข้อมูลท้องถิ่นเหมือนกัน
โดยที่นี่เลือกเก็บข้อมูลท้องถิ่นภาคเหนือ 8 จังหวัดเท่านั้น
ซึ่งต่างจาก ม.เชียงใหม่ ที่มีศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นและจัดเก็บ 17 จังหวัดภาคเหนือ
ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นภาคเหนือ ได้ตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 ของสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยพายัพ
โดยภายในห้องมีการจัดสัดส่วนที่ค่อนข้างลงตัว แยกเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้
- ส่วนแสดงนิทรรศการสารสนเทศท้องถิ่น
– ส่วนแสดงหนังสือสารสนเทศท้องถิ่น
– ส่วนแสดงสื่อมัลติมีเดียสารสนเทศท้องถิ่น
เรื่องการจัดการ Collection ข้อมูลท้องถิ่นในสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยพายัพ
มีการจัดการทรัพยากรสารสนเทศที่เกี่ยวกับท้องถิ่น คือ รวมมาไว้ที่ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นภาคเหนือ
วิธีการจัดการ
1. ทรัพยากรสารสนเทศที่มีข้อมูลเกี่ยวกับท้องถิ่น จะถูกจัดเก็บที่ศูนย์สารสนเทศท้องถิ่นภาคเหนือ
2. ทรัพยากรสารสนเทศในศูนย์สารสนเทศท้องถิ่นภาคเหนือ จะมีการจัดหมวดหมู่คือแบบดิวอี้ (หนังสือทั่วไป)
3. มีการจัดทำสารสนเทศท้องถิ่นขึ้นโดยอาศัยภาควิชาที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยคอยช่วย
นอกจากการจัดการทรัพยากรสารสนเทศภายในศูนย์สารสนเทศท้องถิ่นภาคเหนือแล้ว
ผมยังได้ความรู้เกี่ยวกับสื่อที่ทางศูนย์สารสนเทศท้องถิ่นภาคเหนือผลิตด้วย ในชื่อชุดว่า “Lanna Wisdom”
ซึ่งนับว่าเป็นการผลิตสื่อสารสนเทศด้านท้องถิ่นที่น่าสนใจมากอีกชุดหนึ่งของภาคเหนือ
“Lanna Wisdom” ภูมิปัญญาล้านนา ประกอบด้วยองค์ความรู้ 7 เรื่อง ดังนี้
(1) การแกะสลักไม้
(2) เครื่องจักรสาน
(3) เครื่องปั้นดินเผา ศิลาดล
(4) โคมและตุง
(5) กระดาษสา
(6) เครื่องเขิน
(7) เครื่องเงิน
นอกจากได้ดูสื่อสารสนเทศที่แสนจะมีประโยชน์แล้ว
เจ้าหน้าที่ของที่นี่ยังได้แนะนำเว็บไซต์ของศูนย์สารสนเทศท้องถิ่นภาคเหนือด้วย
ซึ่งด้านในประกอบด้วยองค์ความรู้อีกมากมายที่อยู่ในรูปแบบของไฟล์ต่างๆ เช่น
- ข้อมูลอาหารพื้นเมือง
– ข้อมูลและเนื้อเพลงพื้นเมือง
– ไฟล์รูปภาพเก่าๆ ในท้องถิ่น
– บทความน่ารู้ที่เกี่ยวกับท้องถิ่น
ที่มา http://www.libraryhub.in.th
15 ก.พ. 2015
by adminin ศูนย์สารสนเทศ Tags: ITSC CMU, ศูนย์สารสนเทศมช, ศูนย์สารสนเทศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ตามที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2551 นั้น นับเป็นโอกาสในการรวมหน่วยงานเดิมสององค์กร คือ สำนักบริการคอมพิวเตอร์ ที่ได้ดำเนินการมากว่า 25 ปี และสถานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นองค์กรในกำกับของมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2545 มารวมเข้าด้วยกันอย่างเป็นทางการ ภายใต้ชื่อ “สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ” ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นมา
“เป็นองค์กรแห่งการให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศด้านการให้บริการตามมาตรฐานสากล ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา การบริหารจัดการ เพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยและชุมชนอย่างยั่งยืน”
พันธกิจ
1. สนับสนุนให้มีเทคโนโลยีระบบเครือข่ายเพื่อการสื่อสารและเชื่อมต่อระบบเครือข่าย รวมถึงจัดหาช่องทางการเข้าถึงระบบการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย
2. สนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนการสอน การวิจัย และการจัดทำสื่อการเรียนรู้สมัยใหม่ในรูปแบบต่างๆ
3. ส่งเสริมการพัฒนาศูนย์ข้อมูลกลาง ฐานข้อมูลและข้อมูลสารสนเทศ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
4. ส่งเสริมการเป็นแหล่งเรียนรู้ และองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน
5. ส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และยกระดับมาตรฐานการให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ
6. ส่งเสริมการบริการวิชาการ เพื่อการแก้ไขปัญหาแก่ชุมชน รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
ที่มา ITSC CMU
Previous Older Entries