ห้องสมุดแห่งชาติ

หอสมุดแห่งชาติในปัจจุบันนี้ เมื่อแรกตั้งมีชื่อว่า หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครหอพระสมุดฯ ได้รวบรวมหนังสือไว้เป็นอันมากทั้งหนังสือตัวเขียนที่เป็นเล่มสมุดไทยและใบลานศิลาจารึก หนังสือภาษาต่างประเทศในวิชาต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเมืองไทย และวิชาที่ส่วนราชการกระทรวงต่างๆ เกี่ยวข้องต้องใช้ ได้จัดวางระบบการจัดหมู่ และทำรายการหนังสือตามแบบห้องสมุดในยุโรป จัดให้มีบริการตอบคำถามมีการแลกเปลี่ยนสิ่งพิมพ์กับนานาประเทศ ขอความร่วมมือจากรัฐบาลต่างๆ ที่เคยมีสัมพันธไมตรีกับไทยในอดีตให้ช่วยคัดลอกเอกสารจดหมายเหตุ จดหมายติดต่อระหว่างกัน และบันทึกรายงานเกี่ยวกับประเทศไทย ซึ่งเก็บอยู่ ณ หอจดหมายเหตุแห่งชาติและกระทรวงการต่างประเทศมาเก็บไว้ ณ หอพระสมุดฯ งานที่สำคัญที่สุดคือ การตรวจชำระหนังสือตัวเขียน แล้วจัดพิมพ์เผยแพร่โดยวิธีขอร้องให้เอกชนช่วยจัดพิมพ์เป็นของชำร่วยในงานมงคล และงานศพ ทำให้เกิดมีหนังสือเพิ่มขึ้นมาก และแจกจ่ายให้อ่านกันได้มากกว่าเดิม
เมื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแล้วหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครเปลี่ยนสถานภาพเป็นหน่วยงานหนึ่งในราชบัณฑิตยสถานในระดับแผนก ต่อมาเปลี่ยนไปสังกัดกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ในปัจจุบันคือใน พ.ศ. ๒๕๓๕ หอสมุดแห่งชาติเป็นหน่วยงานในระดับกองที่มีผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติมีหน้าที่รับผิดชอบเช่นเดียวกับหอสมุดแห่งชาติในนานาประเทศดังกล่าวไว้ในหน้าที่ของหอสมุดแห่งชาติ กิจกรรมที่พิเศษออกไปก็คือ ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลวารสารระหว่างชาติประจำประเทศไทย และเป็นศูนย์ข้อมูลวารสารระหว่างชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นศูนย์แจกจ่ายรหัสหรือเลขประจำหนังสือสากลเข้าร่วมในโครงการควบคุมบรรณานุกรมและแลกเปลี่ยนสิ่งพิมพ์ระหว่างหอสมุดแห่งชาติ และศูนย์เอกสารแห่งชาติของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หอสมุดแห่งชาติส่วนกลางตั้งอยู่ที่ถนนสามเสนท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร มีหอสมุดในส่วนภูมิภาคอีกหลายแห่งซึ่งนอกจากให้บริการทางหนังสือแล้ว ยังทำหน้าที่แสวงหา รวบรวม และอนุรักษ์หนังสือตัวเขียนที่ยังคงมีเหลืออยู่ในจังหวัดต่างๆ

ขอบคุณข้อมูลจาก http://guru.sanook.com/

Leave a Reply