โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เชียงใหม่

lannaschool4big

ชุมชนล้านนามีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์อยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอย่างเกื้อกูลกันและกันยาวนานรวมทั้งได้ร่วมกันสร้างสรรค์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งในเรื่องอาหาร ยารักษาโรค งานหัตถกรรมการเกษตรพื้นบ้าน การจัดการทรัพยากรที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีและมีการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างต่อเนื่อง แต่จากการพัฒนาในช่วงที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิต ภูมิปัญญาถูกละเลยจนน่าเป็นห่วง ขาดการสืบทอดจากผู้รู้และพอครูแม่ครู โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่หลงใหลไปกับวัฒนธรรมภายนอกและไม่ได้มีการสืบทอดความรู้ ภูมิปัญญาจากพ่อครูแม่ครูเหล่านี้เลย

ในราวต้นปี ๒๕๔๐ องค์กรต่างๆทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคธุรกิจ สถาบันวิชาการ นักเขียน ศิลปิน กลุ่มศิลปวัฒนธรรม องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชน ได้ปรึกษาหารือตกลงใจร่วมกันว่าควรประสานงานกับคน ทุกกลุ่ม ได้เข้ามาร่วมจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดการสืบทอด ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยร่วมกันจัดงาน”สืบสานล้านนา”ในช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปี ติดต่อกันมาเป็นเวลา ๕ ปี หวังว่าจะส่งผลต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นที่อยู่พื้นฐานวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของท้องถิ่นร่วมกันในอนาคต

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้มีความพยายามขององค์กร ชุมชน กลุ่มคนในท้องถิ่น ภาครัฐ ธุรกิจเอกชน ได้เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสืบทอดอย่างต่อเนื่องในบางชุมชนและมีการจัดงาน “สืบสานล้านนา” ขึ้นในช่วงเดือนเมษายนติดต่อกันมาทุกปีตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมา ก็ยังไม่สามารถก่อให้เกิดการ สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ให้มีความต่อเนื่องและมีกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีความหลากหลายได้

พระเดชพระคุณเจ้าหลวงพ่อพระพุทธพจนวราภรณ์ (พระธรรมดิลก) วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ ได้ให้แนวคิดว่า “การจะสืบสานวัฒนธรรม ภูมิปัญญาล้านนาให้เกิดผลนั้น การจัดงานสืบสานล้านนาเพียงปีละครั้ง ๆ ละ ๔ วัน ไม่สามารถทำให้เกิดผลได้จริง ต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าทุกลมหายใจเลย จึงจะเป็นจริง”
คณะกรรมการจัดงานสืบสานล้านนาได้นำมาปรึกษาหารือมีความเห็นร่วมกันว่าจะต้องทำโครงการที่จะให้เกิดการสืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนาอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง “โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา” ขึ้นในปี ๒๕๔๓ และได้ดำเนินกิจกรรมในการรวบรวมองค์ความรู้ พ่อครู แม่ครู และปราชญ์ชาวบ้านเพื่อทำการถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาให้กับลูกหลานและผู้สนใจในท้องถิ่น ได้เกิดการเรียนรู้และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสาขาต่าง ๆ นอกจากนั้นยังเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ของท้องถิ่นที่มีอยู่ให้มีรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถสืบสานได้อย่างต่อเนื่อง โดยในระยะแรกทางคณะกรรมการและผู้ดำเนินงานได้มีการประสานงานกับพ่อครูแม่ครู ผู้รู้ในท้องถิ่นเปิดสอนวิชาภูมิปัญญาแขนงต่าง ๆ และเปิดรับสมัครนักเรียนและผู้สนใจเข้าเรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านแขนงต่าง ๆ อาทิ การทอผ้า การตัดกระดาษตัดตุง ทำโคม ดนตรีพื้นบ้าน ฟ้อนรำพื้นบ้าน การวาดรูปล้านนา อาหารพื้นบ้าน แกะสลัก จักสาน งานปั้น เป็นต้น มีผู้ให้ความสนใจเข้าเรียนรู้เป็นจำนวนมาก

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อรวบรวมผู้รู้ พ่อครู แม่ครู ช่างพื้นบ้านในแขนงต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชนล้านนา
  2. ศึกษารวบรวยมข้อมูล องค์ความรู้พื้นบ้านออกมาในรูป ของตำราที่คนรุ่นใหม่ศึกษาได้
  3. จัดทำหลักสูตร จัดอบรมระยะสั้น
  4. เผยแพร่ให้ความรู้แก่สาธารณชนให้เห็นความ สำคัญของการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น
  5. ประสานเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องต่าง

หลักสูตรที่เปิดสอน

  1. ภาษาล้านนา
  2. ดนตรีพื้นเมือง
  3. จักรสาน
  4. แต่งคร่าว-ซอ
  5. ฟ้อนพื้นเมือง
  6. วาดรูปล้านนา
  7. การทำตุง-โคม
  8. ฟ้อนดาบ-ฟ้อนเจิง
  9. ของเล่นเด็ก
  10. พิธีกรรม
  11. การทอผ้า
  12. การปั้น
  13. เครื่องเขิน
  14. แกะสลัก
  15. วิชาทางด้านสล่าเมือง

ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา

E12875874-24

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ เดือนมิถุนายน 2538 เป็นคณะที่ 17 ของมหาวิทยาลัยและเป็นคณะในกำกับของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2543 โดนมีบัณฑิตจบการศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2542 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทางคณะฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมล้านนา และการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมมาโดยตลอด โดยมีหลักสูตรที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และการประยุกต์งานสถาปัตยกรรมล้านนา ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าใจและมีพื้นฐานทางด้านสถาปัตยกรรม โดยสามารถนำความรู้ดังกล่าวไปปรับใช้กับการออกแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัยได้ อย่างเหมาะสม จากเหตุผลดังกล่าว คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จึงได้มีโครงการจัดตั้งศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนาขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวม จัดเก็บจัดแสดงและศึกษาค้นคว้าข้อมูลด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมล้านนา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นศูนย์กลางสำหรับการเผยแพร่ความรู้แก่นักศึกษา นักวิจัย และผู้สนใจที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาค
ปัจจุบันศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนาเป็นหน่วยงานภายใต้งานศิลปวัฒนธรรมและชุมชน คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำหน้าที่ในการวิจัย จัดเก็บ และเผยแพร่ความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมล้านนา และศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่อง มีที่ทำการ ณ อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ซึ่งเป็นอาคารเก่าอายุประมาณ 120 ปี ซึ่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับบริจาคจากคุณเรียงพันธุ์ ทิพยมณฑล และอาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2544

อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ หรือบางท่านเรียกว่า คุ้มกลางเวียง เดิมเป็นของ เจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์ หลานของเจ้าหลวงคำฝั้น (เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่3) สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2432-2436 ต่อมาเจ้าน้อยชมชื่น ณ เชียงใหม่ บุตรชายเจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์ ได้รับมรดกและเป็นผู้ครอบครองอาคารในระหว่างปี พ.ศ. 2437-2489

นางบัวผัน นิกรพันธ์ (ทิพยมณฑล) ได้ซื้อต่อจากเจ้าบุษบา ณ เชียงใหม่ (ภริยาเจ้าน้อยชมชื่น ณ เชียงใหม่) และเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงญาติคนปัจจุบันคือคุณเรียงพันธุ์ ทิพยมณฑล (บุตรีนางบัวผันและเป็นน้าสาว ของอาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร) วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2544 ตระกูลกิติบุตรและทิพยมณฑล ได้มอบอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์ ให้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ใช้เป็นที่ทำการของศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา ภายใต้การดูแล และดำเนินงานของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

ศูนย์สารสนเทศภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศูนย์สนเทศภาคเหนือ ได้ถือกำเนิดขึ้นตามนโยบายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในด้านการเรียนการสอน และการวิจัยเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการเปิดสอนกระบวนวิชาต่างๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นล้านนา ซึ่งจำเพาะถึงจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด และการขยายขอบเขตให้กว้างขวางมากขึ้น โดยครอบคลุมทั้งภูมิภาคภาคเหนือ คือ 17 จังหวัด ในเวลาต่อมา สำนักหอสมุดในฐานะที่เป็นหน่วยงานบริการของมหาวิทยาลัยได้ตระหนักและเล็งเห็นความจำเป็นในการเสาะแสวงหา รวบรวม สะสมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับล้านนาและภูมิภาคภาคเหนือโดยรวม สำหรับให้บริการแก่ผู้ใช้ที่ต้องการศึกษา ค้นคว้า และเรียนรู้เรื่องราวของท้องถิ่นภาคเหนือ โดยในระยะเริ่มแรก ได้จัดตั้ง “โครงการพิพิธภัณฑ์และหอศิลปลานนา″ ขึ้นเมื่อพ.ศ.2524 จากการริเริ่มของผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาพ สุจินดา ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด ในขณะนั้น ต่อมาโครงการดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หน่วยพิพิธภัณฑ์และศิลปล้านนา″ และ “หน่วยเอกสารล้านนา″ ตามลำดับ ต่อมาในปี พ.ศ.2534 อาจารย์ ดร. ม.ร.ว. รุจยา อาภากร ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดได้มีนโยบายในการพัฒนาหน่วยเอกสารล้านนาให้มีขอบเขตภาระงานที่กว้างขวางขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือนอกจากมีการขยายกรอบของการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับล้านนาให้กว้างขวางออกไปถึงภูมิภาคภาคเหนือแล้วยังขยายต่อไปถึง “ไทศึกษา″ เป็นประการสำคัญอีกด้วย โดยสำนักหอสมุดได้ปรับเปลี่ยนหน่วยเอกสารล้านนามาเป็น “ศูนย์สนเทศภาคเหนือ” มีฐานะเป็นงานหนึ่งของฝ่ายบริการทรัพยากรสารนิเทศกลาง นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

274391130_itsc_image-400

ตามที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2551 นั้น นับเป็นโอกาสในการรวมหน่วยงานเดิมสององค์กร คือ สำนักบริการคอมพิวเตอร์ ที่ได้ดำเนินการมากว่า 25 ปี และสถานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นองค์กรในกำกับของมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2545 มารวมเข้าด้วยกันอย่างเป็นทางการ ภายใต้ชื่อ “สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ” ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นมา
พันธกิจ

1. สนับสนุนให้มีเทคโนโลยีระบบเครือข่ายเพื่อการสื่อสารและเชื่อมต่อระบบเครือข่าย รวมถึงจัดหาช่องทางการเข้าถึงระบบการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย

2. สนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนการสอน การวิจัย และการจัดทำสื่อการเรียนรู้สมัยใหม่ในรูปแบบต่างๆ

3. ส่งเสริมการพัฒนาศูนย์ข้อมูลกลาง ฐานข้อมูลและข้อมูลสารสนเทศ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล

4. ส่งเสริมการเป็นแหล่งเรียนรู้ และองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน

5. ส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และยกระดับมาตรฐานการให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ

6. ส่งเสริมการบริการวิชาการ เพื่อการแก้ไขปัญหาแก่ชุมชน รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

ศูนย์ข้อมูล ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยพายัพ

251894_399613196751998_1904927812_n

แหล่งข้อมูลที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภาคเหนือ ทั้งแฟ้มข้อมูลภาคเหนือ หนังสือหายาก ภาพในอดีตของเชียงใหม่ บุคคลสำคัญ อาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งจัดไว้ให้บริการสำหรับผู้ที่สนใจ ณ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยพายัพ