Tag-Archive for » มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ «

ศูนย์สนเทศภาคเหนือ

head

(Northern Thai Information Center Chiang Mai University Library. All rights reserved)

             ศูนย์สนเทศภาคเหนือ ได้ถือกำเนิดขึ้นตามนโยบายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในด้านการเรียนการสอน และการวิจัยเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการเปิดสอนกระบวนวิชาต่างๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นล้านนา ซึ่งจำเพาะถึงจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด และการขยายขอบเขตให้กว้างขวางมากขึ้น โดยครอบคลุมทั้งภูมิภาคภาคเหนือ คือ 17 จังหวัด ในเวลาต่อมา สำนักหอสมุดในฐานะที่เป็นหน่วยงานบริการของมหาวิทยาลัยได้ตระหนักและเล็งเห็นความจำเป็นในการเสาะแสวงหา รวบรวม สะสมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับล้านนาและภูมิภาคภาคเหนือโดยรวม สำหรับให้บริการแก่ผู้ใช้ที่ต้องการศึกษา ค้นคว้า และเรียนรู้เรื่องราวของท้องถิ่นภาคเหนือ โดยในระยะเริ่มแรก ได้จัดตั้ง “โครงการพิพิธภัณฑ์และหอศิลปลานนา″ ขึ้นเมื่อพ.ศ.2524 จากการริเริ่มของผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาพ สุจินดา ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด ในขณะนั้น ต่อมาโครงการดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หน่วยพิพิธภัณฑ์และศิลปล้านนา″ และ “หน่วยเอกสารล้านนา″ ตามลำดับ ต่อมาในปี พ.ศ.2534 อาจารย์ ดร. ม.ร.ว. รุจยา อาภากร ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดได้มีนโยบายในการพัฒนาหน่วยเอกสารล้านนาให้มีขอบเขตภาระงานที่กว้างขวางขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือนอกจากมีการขยายกรอบของการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับล้านนาให้กว้างขวางออกไปถึงภูมิภาคภาคเหนือแล้วยังขยายต่อไปถึง “ไทศึกษา″ เป็นประการสำคัญอีกด้วย โดยสำนักหอสมุดได้ปรับเปลี่ยนหน่วยเอกสารล้านนามาเป็น “ศูนย์สนเทศภาคเหนือ” มีฐานะเป็นงานหนึ่งของฝ่ายบริการทรัพยากรสารนิเทศกลาง นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

 วัตถุประสงค์

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดตั้งศูนย์สนเทศภาคเหนือภายใต้วัตถุประสงค์ดังนี้

เพื่อแสวงหา รวบรวม และให้บริการทรัพยากรสารนิเทศที่เกี่ยวข้องกับภาคเหนือ

เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นที่สนับสนุนการศึกษาค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับภาคเหนือ

เพื่อเผยแพร่ข้อมูลภาคเหนือในรูปแบบต่างๆ แก่ชุมชน มีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็วแก่ผู้รับบริการในการเข้าถึงข้อมูล รวมถึงการสนับสนุนข้อมูลทางศิลปวัฒนธรรมภายใต้ขอบเขตและพันธกิจของสำนักหอสมุด

เพื่อทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของภาคเหนือ โดยรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่นภาคเหนือในด้านข้อมูล

ขอบเขตของข้อมูลภาคเหนือ

ข้อมูลภาคเหนือ หมายถึงข้อมูลที่อยู่ในขอบเขตเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับภาคเหนือในทุกๆ ด้าน ได้แก่ ศิลปวัฒนธรรม ศาสนา การศึกษา การท่องเที่ยว สภาพภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจท้องถิ่น สังคม การเมืองการปกครอง ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ฯลฯ เป็นข้อมูลในเขตพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ และอุทัยธานี โดยเน้นหนักในเขตภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ นอกจากนี้ ยังหมายรวมถึงดินแดนที่มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน โดยเน้นภาคเหนือตอนบน ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น รัฐฉานในประเทศพม่า แคว้นยูนนานในประเทศจีน และทางตอนเหนือ ของประเทศลาว เป็นต้น

 สารนิเทศที่ให้บริการ

ศูนย์สนเทศภาคเหนือมีทรัพยากรสารนิเทศสำหรับให้บริการแก่ผู้ใช้ ดังนี้

เอกสารข้อมูลภาคเหนือ ซึ่งแบ่งได้ 2 ประเภท คือ

เอกสารตัวพิมพ์ ได้แก่ หนังสือ ตำรา รายงานการประชุมสัมมนา และหนังสืออ้างอิง ซึ่งจัดเก็บตามระบบการจัดหมู่แบบทศนิยมของดิวอี้ โดยเรียงไว้ตามลำดับของเลขเรียกหนังสือ ตั้งแต่หมวด 000-900 ส่วนกฤตภาคและแฟ้มข้อมูลเฉพาะเรื่อง จัดเก็บโดยการเรียงลำดับตามหมายเลขของเอกสาร รวมทั้งจุลสารซึ่งจัดเก็บตามลำดับอักษรของหัวเรื่อง

เอกสารตัวเขียน หรือ เอกสารโบราณ ได้แก่ คัมภีร์ใบลาน พับสา สมุดข่อย และเอกสารต้นฉบับ ซึ่งเอกสารตัวเขียนเหล่านี้จัดเก็บตามระบบการจัดหมวดหมู่เอกสารโบราณ รวมทั้งสิ้น 23 หมวด คือ หมวดพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม คัมภีร์บาลี บทสวดมนต์ อานิสงส์ ชาดก โอวาทคำสอน ประเพณี/พิธีกรรม/พระราชพิธี ธรรมทั่วไป นิยายธรรม นิยายพื้นบ้าน ตำนานพระพุทธศาสนา ตำนานเมือง/ราชวงศ์ กฎหมาย/กฏข้อบังคับต่างๆ ตำราอักษรศาสตร์ กวีนิพนธ์ร้อยกรอง/วรรณคดี ตำราโหราศาสตร์ ตำรายา ตำราต่างๆ จดหมายเหตุราชการ/บุคคล รวมหลายหมวด และเบ็ดเตล็ด

เอกสารหายาก เป็นเอกสารเพื่อการค้นคว้าวิจัยชั้นสูงที่มีคุณค่าและหาได้ยากในห้องสมุดต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่สามารถหาซื้อได้จากสำนักพิมพ์หรือร้ายขายหนังสือทั่วไป อาทิ หนังสืออนุสรณ์งานศพ และหนังสือที่จัดพิมพ์ในโอกาสพิเศษต่างๆ เป็นต้น

เอกสารจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเอกสารที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วยหนังสือราชการ รายงานการประชุม ผลงานทางวิชาการของอาจารย์และข้าราชการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ และเอกสารอื่นๆ อาทิ โปสเตอร์ และแบบแปลนอาคารของหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น

ที่ตั้งและเบอร์โทรศัพท์ของศูนย์สนเทศภาคเหนือ

239 ถนนห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200
โทร.0-5394-4514, 0-5394-4517

การเดินทางมา ศูนย์สนเทศภาคเหนือ

 

สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

eng-fact-120613225301

 

ตามที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2551 นั้น นับเป็นโอกาสในการรวมหน่วยงานเดิมสององค์กร คือ สำนักบริการคอมพิวเตอร์ ที่ได้ดำเนินการมากว่า 25 ปี และสถานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นองค์กรในกำกับของมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2545 มารวมเข้าด้วยกันอย่างเป็นทางการ ภายใต้ชื่อ “สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ” ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นมา

วิดิโอแนะนำ  สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ที่ตั้งและเบอร์โทรศัพท์ของ สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เลขที่ 239 ถนนห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

โทรศัพท์ 0-5394-3811

การเดินทางมา สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา

1359512007-01DSC00824-o

พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา แห่งนี้ได้รวบรวมเรือนโบราณที่ทั้งได้รับจากการบริจาคและขายให้กับพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วยกลุ่มเรือนโบราณที่ควรค่าแก่การรักษาและอนุรักษ์ จำนวน 8 หลัง ได้แก่
เรือนไทยลื้อ (หม่อนตุด)   เป็นเรือนไม้ขนาดกลาง มีลักษณะสองหลังหน้าเปียง ด้านตะวันออกเป็นเรือนนอนโล่งกว้าง ด้านตะวันตกเป็นเรือนครัว ระหว่างชายคาของเรือน ทั้งสองเชื่อมต่อกันเป็นรางน้ำฝนเรียกว่า “ฮ่องลิน” หลังคามุงด้วยแป้นเกล็ด
เรือนลุงคิวเป็นอาคารรูปทรงอิทธิพลสถาปัตยกรรมตะวันตกหรือทรงอาณานิคมหรือแบบโคโลเนียล สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2465
เรือนกาแล (อุ๊ยผัด)  เรือนหลังนี้มีลักษณะเด่นของเรือนกาแลคือ มีหัมยนต์ติดบริเวณด้านบนของประตูห้องนอนเพื่อทำหน้าที่เป็นยันต์อันศักดิ์สิทธิ์คอยป้องกันและขับไล่อันตรายต่างๆจากภายนอก
เรือนพื้นบ้านล้านนาอุ๊ยแก้ว เป็นรูปแบบเรือนของคนที่อาศัยใกล้เวียงเชียงใหม่ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ลักษณะ การจัดพื้นที่ใช้สอยยังเป็นแบบบ้านชนบทแต่ทำฝาและประตูหน้าต่างแบบใหม่
เรือนกาแล (พญาวงศ์) เป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงหลังคาทรงหน้าจั่ว มีลักษณะเด่นคือ “กาแล”ซึ่งเป็นเครื่องหมายของความเป็นสิริมงคล ลักษณะเป็นไม้แกะสลักยื่นเลยจากปั้นลมไปไขว้กันที่ยอดจั่วเรือน
เรือนชาวเวียงเชียงใหม่ (พญาปงลังกา) เป็นเรือนไม้ขนาดกลาง ลักษณะเป็นเรือนหลังคาทรงจั่ว สองจั่วเหลื่อมกัน
เรือนทรงปั้นหยา (อนุสารสุนทร) ยุ้งข้าวหรือหลองข้าว เป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่สองชั้น หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา (ดินขอ) ลักษณะเป็นทรงปั้นหยาเหลื่อมซ้อนกันอย่างลงตัว
นอกจากนี้ภายในพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา ยังมีการสาธิตการทำหัตถกรรมพื้นบ้านที่สวยงามและทรงคุณค่าในอดีต อาทิ การย้อมผ้าด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ การทอผ้าด้วยกี่เอว การทำเครื่องเงิน การฉลุลายผ้าและกระดาษสาเป็นลวดลายต่างๆ

ที่ตั้ง เวลาทำการ และเบอร์โทรศีพท์ของ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา

ตั้งอยู่ที่ถนนห้วยแก้ว ติดถนนเรียบคลองชลประทาน ใกล้สี่แยกตลาดต้นพะยอม อยู่ในสังกัดสำนักงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รวบรวมเรือนโบราณที่ทั้งได้รับจากการบริจาคและขายให้กับพิพิธภัณฑ์

ที่นี่เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันจันทร์- ศุกร์ เวลา8.30 – 16.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.053943625 โทรสาร 053222680

การเดินทางมา พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา

สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

P_about library_0

สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดดำเนินการพร้อมกับมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2507 ขณะนั้นมีฐานะเป็น กองห้องสมุด สังกัดสำนักงานอธิการบดี โดยใช้ส่วนหนึ่ง ของอาคารภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ เป็นที่ทำการชั่วคราว และย้ายไปอยู่ที่อาคารเอกเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2511 ต่อมาปี พ.ศ.2519 ได้รับการยกฐานะเป็น สำนักหอสมุด และได้รับงบประมาณสร้างอาคารใหม่ เนื่องจากอาคารเดิมคับแคบ เพราะจำนวนทรัพยากร และผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น และได้ย้ายมาอยู่อาคารหลังปัจจุบัน เมื่อเดือนตุลาคม 2522 ต่อมาปี พ.ศ.2540 ได้รับอนุมัติให้ขยายอาคาร มีเนื้อที่เพิ่มขึ้น 6,944 ตารางเมตร รวมพื้นที่ 15,768 ตารางเมตร บริการที่นั่งอ่าน 1,796 ที่นั่ง และให้บริการนักศึกษาในปี พ.ศ.2544

 การบริหารงาน

แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 6 ฝ่าย คือ

สำนักงานเลขานุการ

ฝ่ายบริการทรัพยากรสารนิเทศกลาง

ฝ่ายพัฒนาและจัดระบบทรัพยากรสารนิเทศ

ฝ่ายห้องสมุดและสารนิเทศสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ

ฝ่ายห้องสมุดและสารนิเทศสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

ฝ่ายห้องสมุดและสารนิเทศสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สำนักงานเลขานุการ

เป็นหน่วยงานสนับสนุนภารกิจหลักของสำนักหอสมุด ซึ่งมีเป้าหมายคือ การบริการแก่ผู้ใช้ให้สามารถดำเนินการ ได้อย่างราบรื่น สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ มีหน้าที่อำนวยการและประสานงาน บริหารส่วนกลางระหว่างฝ่าย งานต่าง ๆ ภายในสำนักหอสมุดและหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัย งานหลักที่ดำเนินการ

งานบริหารและธุรการ

งานคลังและพัสดุ

งานนโยบายและแผน

 ฝ่ายบริการทรัพยากรสารนิเทศกลาง

มีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการให้บริการทรัพยากรสารนิเทศ แก่ผู้ใช้บริการห้องสมุด เพื่อให้ได้รับข้อมูล ที่ทันสมัย ตรงกับความต้องการมากที่สุด ทั้งในแง่การเรียน การสอน และการค้นคว้าวิจัย และอย่างสะดวก รวดเร็ว ประกอบด้วย

งานบริการผู้อ่าน

งานบริการสารนิเทศ

งานวารสารและเอกสาร

งานศูนย์สนเทศภาคเหนือ

งานโสตทัศนวัสดุ

 ฝ่ายพัฒนาและจัดระบบทรัพยากรสารนิเทศ

ทำหน้าที่คัดเลือก จัดหา บำรุงรักษา และเผยแพร่ทรัพยากรสารนิเทศทุกรูปแบบ ทั้งภายในและต่างประเทศ ให้สอดคล้องกับแผนการเรียนการสอน การค้นคว้าวิจัยของมหาวิทยาลัย และนำทรัพยากรสารนิเทศเหล่านี้ มาจัดระบบเพื่อให้ผู้ใช้เข้าถึงอย่างรวดเร็ว ทันสมัย ตรงกับความต้องการ โดยการนำเทคโนโลยี และวิธีการมาใช้ในการดำเนินงาน รวมทั้งรวบรวมสถิติข้อมูล เพื่อทำการวิจัย และประเมินผลการดำเนินงานทุก ขั้นตอน เพื่อหาแนวทางพัฒนา และแก้ไขการให้บริการสารนิเทศให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดความซ้ำซ้อน ของงาน และประหยัดงบประมาณส่วนรวม   แบ่งการดำเนินงาน

งานพัฒนาทรัพยากร

งานวิเคราะห์ทรัพยากร

งานระบบคอมพิวเตอร์

งานอนุรักษ์และบำรุงรักษาทรัพยากรสารนิเทศ

 ฝ่ายห้องสมุดและสารนิเทศ

ทำหน้าที่ให้บริการทรัพยากรสารนิเทศในสาขาวิชาเฉพาะ ร่วมมือและประสานงานการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาระบบงานในระหว่างห้องสมุดคณะ/สำนัก/สถาบัน/ศูนย์ อาทิเช่น การคัดเลือก จัดหา บำรุงรักษา เผยแพร่และให้บริการทรัพยากรสารนิเทศ แก่ผู้ใช้ในกลุ่มสาขาวิชาเฉพาะ ในลักษณห้องสมุด เพื่อการค้นคว้าวิจัย และวิชาการระดับสูง ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้บริการในระดับลึก และมีทิศทางการดำเนินงานด้านการ บริหารงบประมาณ การวางแผนพัฒนาบุคลากร เพื่อให้บริการอย่างชัดเจน

ฝ่ายห้องสมุดและสารนิเทศสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ประกอบด้วย

ห้องสมุดคณะเกษตรศาสตร์

ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์

ห้องสมุดคณะวิศวกรรมศาสตร์

ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

ห้องสมุดสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ห้องสมุดคณะอุตสาหกรรมเกษตร

 ฝ่ายห้องสมุดและสารนิเทศสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ

ประกอบด้วย

ห้องสมุดคณะทันตแพทยศาสตร์

ห้องสมุดคณะเทคนิคการแพทย์

ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์

ห้องสมุดคณะพยาบาลศาสตร์

ห้องสมุดคณะเภสัชศาสตร์

ห้องสมุดสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ

ห้องสมุดคณะสัตวแพทยศาสตร์

 ฝ่ายห้องสมุดและสารนิเทศสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

ประกอบด้วย

ห้องสมุดคณะวิจิตรศิลป์

ห้องสมุดคณะบริหารธุรกิจ

ห้องสมุดคณะมนุษยศาสตร์

ห้องสมุดคณะเศรษฐศาสตร์

ห้องสมุดคณะศึกษาศาสตร์

ห้องสมุดคณะสังคมศาสตร์

ศูนย์เอกสารสถาบันวิจัยสังคม

ห้องสมุดศูนย์วิชาการโรงเรียนสาธิต

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนห้วยแก้ว อ. เมือง จ. เชียงใหม่ 50200
โทรศัพท์ 0-5394-4531 โทรสาร 0-5322-2766
Copyright©2010 Chiang Mai University Library. All rights reserved
เวลาเปิดบริการ ปกติ: จันทร์-ศุกร์ 8.00-21.00 น. เสาร์-อาทิตย์ 10.00-18.00 น.
ปิดภาคการศึกษา: จันทร์-ศุกร์ 8.30-16.30 น. เสาร์-อาทิตย์ ปิดบริการ
วันหยุดนักขัตฤกษ์ ปิดบริการ
Webmaster: webadmin@lib.cmu.ac.th

วิดิโอแนะนำ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การเดินทางมา สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่