Tag-Archive for » วัฒนธรรม «

โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา

โปสเตอร์รับสมัคร3

ชุมชนล้านนามีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์อยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอย่างเกื้อกูลกันและกันยาวนานรวมทั้งได้ร่วมกันสร้างสรรค์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งในเรื่องอาหาร ยารักษาโรค งานหัตถกรรมการเกษตรพื้นบ้าน การจัดการทรัพยากรที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีและมีการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างต่อเนื่อง แต่จากการพัฒนาในช่วงที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิต ภูมิปัญญาถูกละเลยจนน่าเป็นห่วง ขาดการสืบทอดจากผู้รู้และพอครูแม่ครู โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่หลงใหลไปกับวัฒนธรรมภายนอกและไม่ได้มีการสืบทอดความรู้ ภูมิปัญญาจากพ่อครูแม่ครูเหล่านี้เลย

ในราวต้นปี ๒๕๔๐ องค์กรต่างๆทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคธุรกิจ สถาบันวิชาการ นักเขียน ศิลปิน กลุ่มศิลปวัฒนธรรม องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชน ได้ปรึกษาหารือตกลงใจร่วมกันว่าควรประสานงานกับคน ทุกกลุ่ม ได้เข้ามาร่วมจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดการสืบทอด ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยร่วมกันจัดงาน”สืบสานล้านนา”ในช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปี ติดต่อกันมาเป็นเวลา ๕ ปี หวังว่าจะส่งผลต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นที่อยู่พื้นฐานวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของท้องถิ่นร่วมกันในอนาคต

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้มีความพยายามขององค์กร ชุมชน กลุ่มคนในท้องถิ่น ภาครัฐ ธุรกิจเอกชน ได้เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสืบทอดอย่างต่อเนื่องในบางชุมชนและมีการจัดงาน “สืบสานล้านนา” ขึ้นในช่วงเดือนเมษายนติดต่อกันมาทุกปีตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมา ก็ยังไม่สามารถก่อให้เกิดการ สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ให้มีความต่อเนื่องและมีกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีความหลากหลายได้

พระเดชพระคุณเจ้าหลวงพ่อพระพุทธพจนวราภรณ์ (พระธรรมดิลก) วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ ได้ให้แนวคิดว่า “การจะสืบสานวัฒนธรรม ภูมิปัญญาล้านนาให้เกิดผลนั้น การจัดงานสืบสานล้านนาเพียงปีละครั้ง ๆ ละ ๔ วัน ไม่สามารถทำให้เกิดผลได้จริง ต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าทุกลมหายใจเลย จึงจะเป็นจริง”
คณะกรรมการจัดงานสืบสานล้านนาได้นำมาปรึกษาหารือมีความเห็นร่วมกันว่าจะต้องทำโครงการที่จะให้เกิดการสืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนาอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง “โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา” ขึ้นในปี ๒๕๔๓ และได้ดำเนินกิจกรรมในการรวบรวมองค์ความรู้ พ่อครู แม่ครู และปราชญ์ชาวบ้านเพื่อทำการถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาให้กับลูกหลานและผู้สนใจในท้องถิ่น ได้เกิดการเรียนรู้และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสาขาต่าง ๆ นอกจากนั้นยังเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ของท้องถิ่นที่มีอยู่ให้มีรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถสืบสานได้อย่างต่อเนื่อง โดยในระยะแรกทางคณะกรรมการและผู้ดำเนินงานได้มีการประสานงานกับพ่อครูแม่ครู ผู้รู้ในท้องถิ่นเปิดสอนวิชาภูมิปัญญาแขนงต่าง ๆ และเปิดรับสมัครนักเรียนและผู้สนใจเข้าเรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านแขนงต่าง ๆ อาทิ การทอผ้า การตัดกระดาษตัดตุง ทำโคม ดนตรีพื้นบ้าน ฟ้อนรำพื้นบ้าน การวาดรูปล้านนา อาหารพื้นบ้าน แกะสลัก จักสาน งานปั้น เป็นต้น มีผู้ให้ความสนใจเข้าเรียนรู้เป็นจำนวนมาก

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อรวบรวมผู้รู้ พ่อครู แม่ครู ช่างพื้นบ้านในแขนงต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชนล้านนา
  2. ศึกษารวบรวยมข้อมูล องค์ความรู้พื้นบ้านออกมาในรูป ของตำราที่คนรุ่นใหม่ศึกษาได้
  3. จัดทำหลักสูตร จัดอบรมระยะสั้น
  4. เผยแพร่ให้ความรู้แก่สาธารณชนให้เห็นความ สำคัญของการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น
  5. ประสานเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องต่าง

หลักสูตรที่เปิดสอน

  1. ภาษาล้านนา
  2. ดนตรีพื้นเมือง
  3. จักรสาน
  4. แต่งคร่าว-ซอ
  5. ฟ้อนพื้นเมือง
  6. วาดรูปล้านนา
  7. การทำตุง-โคม
  8. ฟ้อนดาบ-ฟ้อนเจิง
  9. ของเล่นเด็ก
  10. พิธีกรรม
  11. การทอผ้า
  12. การปั้น
  13. เครื่องเขิน
  14. แกะสลัก
  15. วิชาทางด้านสล่าเมือง

วิดิโอแนะนำ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา

ที่ตั้งและเบอร์โทรศัพท์ของ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา

๓๕ ถ.รัตนโกสินทร์ ต.วัดเกต อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ๕๐๐๐๐

โทรศัพท์ ๐๕๓-๒๔๔๒๓๑ โทรสาร ๐๕๓-๓๐๖๖๑๒

การเดินทางมา  โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา

 

 

 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่

1278387738_1(1)

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ เป็นพิพิธภัณฑสถานระดับภาค อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยา และศูนย์กลางการศึกษา การอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ และของภาคเหนือตอนบน หรือที่เรียกมาแต่โบราณว่า ล้านนา มีรูปทรงเป็นอาคารจัตุรมุขทรงไทยประยุกต์ สองชั้น ตรงยอดจั่วประดับด้วยกาแลซึ่งเป็นแบบศิลปะตกแต่งพื้นเมืองล้านนา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์บรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ พร้อมทอดพระเนตรนิทรรศการถาวรภายในอาคารเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2516  ปัจจุบันพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ ได้รับการปรับปรุงทั้งเนื้อหาการจัดแสดง อาคารสถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ ให้สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ และเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติประจำภาคอย่างแท้จริง
ส่วนจัดแสดงแบ่งเป็น2ชั้น ชั้นละ3ส่วน โดยรวบรวมสิ่งของที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของภาคเหนือไว้ เช่น พระพุทธรูปสกุลช่างสมัยล้านนาต่างๆ และพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน เครื่องไม้แกะสลัก เครื่องถ้วยภาคเหนือ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวล้านนาและชาวเขาเผ่าต่างๆ ภาพถ่ายประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่ ผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ยังจะได้ศึกษาจากเนื้อหานิทรรศการที่นำเสนอเรื่องราวและหลักฐานภูมิเดิมก่อนมาเป็นแผ่นดินล้านนา การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ เรื่องราวที่น่าสนใจของเผ่าลัวะ และหริภุญไชยรัฐแรกของภาคเหนือ ต่อเนื่องมาจนถึงการสถาปนานครเชียงใหม่ เรื่องราวที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองและความเสื่อมของราชอาณาจักรล้านนา จากนั้นเข้าสู่ยุคของนครเชียงใหม่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรสยาม การค้า และเศรษฐกิจ การดำรงชีวิตและพัฒนาการทางสังคม ตลอดจนแสดงถึงวิวัฒนาการของศิลปกรรมล้านนาและศิลปะในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการหมุนเวียนในชั้นล่างอีกด้วย

ที่ตั้งเวลาทำการและเบอร์โทรศัพท์ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่

ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ (เชียงใหม่-ลำปาง)

เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. หยุดวันจันทร์และวันอังคาร ช่วงวันสงกรานต์ และวันปีใหม่ ค่าเข้าชม คนไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท นักเรียน นักศึกษาฟรี

 โทร. 0 5322 1308

การเดินทางมาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่